ปัญหาการปราบปราม ทุจริต คอรัปชั่น พลตำรวจเอกวัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ยอมรับว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่น เป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายเรื้อรังและรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จะพยายามลดความรุนแรงของปัญหาแต่ก็ยังไม่มีมาตรการใดที่สามารถแก้ไขได้อย่างจริงจัง มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ได้เปิดเผยผลการจัดอันดับในการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์การคอร์รัปชั่นประจำปี 2558 ว่า ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 76 จากการจัดอันดับทั้งหมด 168 ประเทศทั่วโลกและเป็นอันดับที่ 3 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน สังคมไทยยังมีวัฒนธรรมและค่านิยมที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งผู้บริหารระดับสูงของภาครัฐ ภาครัฐวิสาหกิจบางแห่งไม่ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีบกพร่องในการบริหารจัดการด้วยหลักธรรมาภิบาลและมีการกระทำที่ขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม
ประธานปชช.ระบุว่า ปัจจุบัน ยังพบว่าภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจบางแห่งอาจจะยังขาดจริยธรรมประชาชนขาดจิตสำนึกและไม่มีความตระหนักถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งขาดการส่งเสริม สนับสนุนสร้างการยกย่องเชิดชูคนดีให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ขาดการปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมค่านิยมในความซื่อสัตย์สุจริตอย่างจริงจัง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงเริ่มจัดทำโครงการมอบรางวัล องค์กรโปร่งใส ซึ่งเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศ คุณธรรมจริยธรรม และความซื่อตรง ให้แก่หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนที่โดยจัดทำมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันคือครั้งที่ 6 หลักเกณฑ์การพิจารณา มีอยู่ 7 ข้อ ประกอบด้วย ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม / การเคารพต่อหลักนิติธรรม / การเคารพต่อสิทธิมนุษยชน /มีความโปร่งใส / การปฏิบัติอย่างมีจริยธรรม / ให้ความสำคัญต่อประโยชน์พึงมีพึงได้ของผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ทำธุรกรรมด้วยและ / การเคารพต่อการปฏิบัติตามแนวทางของสากล
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานและพิจารณามอบรางวัลองค์กรโปร่งใส เปิดเผยว่า รางวัลองค์กรโปร่งใส นี้มีความสำคัญเพราะนอกจากเป็นการประกาศเชิดชูเกียรติคุณของแต่ละองค์กรแล้วยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการเป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นการสร้างกระแสสังคมให้เกิดค่านิยม ในการบริหารองค์กรอย่างมีคุณธรรมจริยธรรมและซื่อสัตย์สุจริตรวมทั้งต้องการประกาศเกียรติคุณแก่หน่วยงานและองค์กร ทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนของไทยที่มีความโปร่งใส โดยป.ป.ช. ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานและพิจารณามอบรางวัลองค์กรโปร่งใสด้วยการแต่งตั้งคณะทำงานคัดกรองผู้สมัครซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความสามารถและผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำหน้าที่ เช่น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน องค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย องค์กรที่สนใจ สามารถส่งผลงานเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.–30 เม.ย.59 หรือติดตามรายละเอียดและดาวน์โหลดใบสมัครการเข้าร่วมพิจารณารับรางวัลองค์กรโปร่งใสได้ที่เว็บไซต์ของสำนักงาน ป.ป.ช.www.nacc.go.th