วารสารเซลล์ สเต็ม เซลล์ ฉบับล่าสุดเผยแพร่ผลการวิจัยเรื่องไวรัสซิกาที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ว่า ผลจากการทดลองในห้องแลปที่สหรัฐฯ คณะนักวิจัย ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอพส์กิน มหาวิทยาลัยรัฐฟลอริดา และมหาวิทยาลัยอีมอรี ได้นำตัวอย่างเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นเวลา 2 ชั่วโมงมาวิเคราะห์เชื้อในอีก 3 วันถัดมาและพบว่า เชื้อไวรัสซิก้าได้ทำลายเนื้อเยื่อในสมองที่กำลังพัฒนาเกือบร้อยละ 90 โดยสามารถทำลายหรือขัดขวางการเติบโตเซลล์ต้นกำเนิดระบบประสาท ซึ่งเป็นกลไกในการสร้างสมองและระบบประสาท ผลการวิจัยดังกล่าวสนับสนุนแนวคิดที่ว่าไวรัสซิกาเป็นสาเหตุที่ทำให้สมองของเด็กทารกแรกเกิดเติบโตผิดปกติ
ศาสตราจารย์กัว ลี หมิง หนึ่งในคณะนักวิจัยระบุว่าผลการศึกษาดังกล่าวเป็นก้าวย่างสำคัญในการทำความเข้าใจเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างอาการสมองเล็กผิดปกติกับไวรัสซิกา พร้อมเตือนว่ายังไม่ควรด่วนสรุปถึงความเชื่อมโยงกันโดยตรง และจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยเฉพาะในประเด็นว่าเชื้อไวรัสจากมารดาข้ามเข้าไปในรกของเด็กได้อย่างไร
ปัจจุบัน พบเด็กทารกที่ต้องสงสัยว่ามีอาการสมองเติบโตเล็กผิดปกติในบราซิล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิกาแล้วมากกว่า 4,800 คน แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าไวรัสซิกาเป็นสาเหตุของอาการผิดปกติดังกล่าว
ทีมต่างประเทศ
CR:แฟ้มภาพ