*ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้แจง ขั้นตอนที่ถูกต้องเสนอชื่อสมเด็จพระสังฆราช นายกฯ มีหน้าที่พิจารณา*

04 มีนาคม 2559, 18:51น.


นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในฐานะเลขาธิการมหาเถรสมาคม และสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม กรณีเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะ ที่สมควรได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ตามมติมหาเถรสมาคม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ไปยังนายกรัฐมนตรี โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอน ตามบทบัญญัติของกฎหมาย มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 โดยระบุว่า การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องเป็นผู้เสนอนามพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด โดยสมณศักดิ์ โดยมหาเถรสมาคมมีอำนาจหน้าที่ให้ความเห็นชอบ ตามที่นายกรัฐมนตรี เสนอนามมา เมื่อมหาเถรสมาคมให้ความเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรี จึงเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุด เสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป ซึ่งจากการที่มหาเถรสมาคม มีการเสนอชื่อ สมเด็จสมช่วง  เมื่อ 5 ก.พ.  ถือว่าเป็นการกระทำผิดขั้นตอนของกฎหมาย เข้าข่ายไม่ถูกต้อง



เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ  ต้องเสนอเรื่องไปที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี พิจารณา หลังจากนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว ก็จะนำรายชื่อที่นายกรัฐมนตรี พิจารณา ไปให้มหาเถรสมาคม เพื่อพิจารณาว่ามหาเถรสมาคมจะเห็นด้วยกับขั้นตอนที่นายกรัฐมนตรี เสนอไปหรือไม่ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มั่นใจว่าสิ่งที่พิจารณา ได้ทำอย่างถูกต้องแล้ว เพราะได้ให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญพิจารณาอย่างรอบคอบ และเชื่อว่าหลังจากนี้ จะมีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากพอสมควร



CR:แฟ้มภาพ



 



 

ข่าวทั้งหมด

X