การแถลงข่าว "อะมะฉลาดใช้ อะโก่ฉลาดซื้อ" ภายใต้งานกิจกรรมรณรงค์ แรงงาน AC (Asean Community) สุขภาพดี บริโภคปลอดภัย นพ. บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า อย. ต้องการยกระดับคุณภาพด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทุกเชื้อชาติ จะต้องมีสุขภาพที่ดี ไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสังคมและสาธารณสุข โดยเน้นการป้องกันโรคมากกว่ารอให้ป่วยแล้วจึงมารักษา โดยเริ่มต้นจากการที่ให้แรงงานชาวต่างด้าว ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น หลังการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 อย. จึงลงพื้นที่รณรงค์ ให้แรงงานต่างด้าวหันมาใส่ใจเลือกซื้อ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่จำหน่ายในเมืองไทย ซึ่งในส่วนนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมพัฒนาให้แรงงานต่างด้าวมีสุขภาพชีวิตที่ดี อย. ได้ลงพื้นที่ในจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแรงงานต่างด้าว โดยเฉพาะชาวเมียนมาเป็นจำนวนมาก โดยอย. ได้ลงพื้นที่ 4 จุด คือ บริษัท ไทยรอแยลฟรอเซนฟู๊ด จำกัด บริษัท ไทยอกริ ฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งการรณรงค์ในแต่ละจุด มีชาวเมียนมาให้ความสนใจเฉลี่ย 300-700 คน สำหรับ อามะ หมายถึงพี่สาว ส่วนอะโก่ หมายถึงพี่ชาย
การรณรงค์ของอย. จะมีการอบรมให้ความรู้แก่แรงงานต่างด้าวเกี่ยวกับการเลือกซื้อ เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพอย่างถูกต้องและเหมาะสม พร้อมทั้งให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องฉลากอาหาร ฉลากยา ฉลากเครื่องสำอาง และฉลากเครื่องมือแพทย์ ให้สามารถคัดกรองข้อมูลเบื้องต้นบนฉลากผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองได้ รวมทั้งยังสอนวิธีการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด และถุงยางอนามัยอย่างปลอดภัย เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
กิจกรรมรณรงค์ครั้งนี้ อย. ได้มีการจัดทำเอกสารแผ่นพับ คู่มือความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวด้วยภาษาเมียนมา และยังจัดล่ามชาวเมียนมา เพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น โดยจากการประเมินแล้ว ประมาณร้อยละ 90 มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสัญญลักษณ์บนฉลากผลิตภัณฑ์สุขภาพ
รวมถึงรณรงค์ให้รู้จักการเลือกบริโภคอาหารอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงในอาหารปนเปื้อน ลดปริมาณการบริโภคผงชูรส ลดความเสี่ยงการบริโภคยาที่เสื่อมคุณภาพ และลดความเสี่ยงการใช้เครื่องสำอางที่มีสารห้ามใช้ ทั้งนี้อย. ได้จับมือกับเครือข่ายลงไปให้ความรู้และนำชุดทดสอบโมบายไปตรวจสอบตัวอย่างอาหารในตลาดสดและแหล่งชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงโรงงานอีกด้วย
อย. ยังได้มีการมอบโล่ห์เพื่อเป็นการขอบคุณให้แก่สถานประกอบการอาหารทั้ง 4 แห่งที่ให้ความร่วมมือ รวมทั้งมอบโล่ห์ให้แก่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ ที่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กิจกรรมรณรงค์สำเร็จไปได้ด้วยดี โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครและสมุทรปราการ ยืนยันว่า จะรณรงค์ให้ความรู้ในโรงงานต่างๆ ที่มีแรงงานต่างด้าวต่อไป โดยจะรณรงค์ให้ครอบคลุมแรงงานต่างด้าวในหลายๆ ประเทศ ไม่เฉพาะแรงงานชาวเมียนมาเพียงอย่างเดียว โดยผู้บริโภคสามารถติชมการทำงานของอย. ได้ที่สายด่วน 1556
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข