การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญหลังจากได้รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มีนักวิชาการกังวลกรณีหากไม่เขียนแยกมาตรา 7 ออกมาให้ชัดเจน ดังนั้น กรธ. จึงจะมีการพิจารณานำมาตรา 7 ที่บรรจุในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ กลับมาบรรจุไว้ เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ส่วนจะสามารถแก้ปัญหาทางตันได้อย่างไรนั้น นายมีชัยกล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าใครจะเป็นผู้ชี้ขาดหากเกิดทางตัน แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ได้กำหนดผู้ชี้ขาดไว้แล้วคือศาลรัฐธรรมนูญ เพราะหากต่างคนต่างพูดก็จะทำให้เถียงกันไม่สิ้นสุด ซึ่งหากกำหนดไว้เช่นนี้ จะเป็นการปิดช่องว่างกรณีที่เกิดปัญหาเหมือนในอดีต จึงไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติแก้วิกฤติไว้ ตามข้อเสนอของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ให้รัฐสภา หรือ สว.เป็นผู้ชี้ขาดว่าสถานการณ์วิกฤติแล้วหรือยัง หากเกิดวิกฤติแล้วจะให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญเรียกบุคคลต่าง ๆ มาหารือเพื่อหาทางออก เพราะไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและเกรงว่าอาจเกิดปัญหาสังคมไม่ยอมรับ เหมือนกรณีข้อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.)
ส่วนแยกมาตรา 7 ออกมาต่างหาก จะแตกต่างกันกับที่อยู่ในหมวดศาลรัฐธรรมนูญอย่างไร นายมีชัย กล่าวว่าไม่ต่าง เพียงแต่ของเดิมเขียนค่อนข้างสั้น โดยเขียนว่าเมื่อเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วไม่มีบทบัญญัติใดที่สามารถบังคับใช้ได้ ก็ให้ใช้ประเพณีการปกครอง แต่เมื่อแยกมาตรา 7 ออกมาต่างหากจะระบุว่า องค์กรใดที่เกิดปัญหาแล้วจะให้ใครเป็นผู้ขี้ขาดได้บ้าง เช่น สภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ
ส่วนเงื่อนไขที่ให้ส่งเรื่องได้ ก่อนที่ความขัดแย้ง จะยังมีอยู่หรือไม่ นายมีชัยระบุว่า ยังคงมีอยู่หากหน่วยงานใดมีปัญหาก็สามารถส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญขี้ขาดก่อนได้ ส่วนการตีความจะเป็นไปตามบทบัญญัติหรือตามเจตนารมณ์ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าการส่งเรื่องไปก่อนเป็นเรื่องดีเพราะเมื่อมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญจะได้มีผู้ขี้ขาด ส่วนข้อเสนอที่จะให้รัฐสภาหรือวุฒิสภา เป็นผู้วินิจฉัยสถานการณ์วิกฤติ นายมีชัยกล่าวว่า ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้
ส่วนที่กรธ. จะมีการพิจารณาปรับแก้ที่มาของ ส.ว. นายมีชัยกล่าวว่า ไม่เป็นความจริงเพราะกรธ. ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องอื่นๆ จากการนำความเห็นของประชาชนมาพิจารณาเป็นลำดับแรก โดยพิจารณาว่าสิ่งที่มีการขอให้แก้ไขเพิ่มเติมหากสามารถบรรจุได้ก็จะดำเนินการให้ ซึ่งทำให้โฆษก กรธ. ไม่สามารถมาแถลงความคืบหน้ารายวันได้เพราะหากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ประธานกรธ.ยืนยันว่า ไม่ได้ เอาใจ ครม. เพราะขณะนี้ยังไม่ได้พิจารณาข้อเสนอของครม. แต่เอาที่ประชาชนเป็นหลักหากตรงกับที่ประชาชนเสนอก็จะพิจารณาใส่เข้าไป ส่วนทางคสช. กรธ.ก็รับฟังเช่นกัน ส่วนกลไกที่จะนำมาแก้วิกฤต กรธ. ก็พยายามคิดหาวิธีการ แต่ขณะนี้ยังคิดไม่ออก ทั้งนี้ความเห็นที่ส่งเข้ามายัง กรธ. มีเป็นจำนวนมากหากอ่านหมดก็จะใช้เวลาถึงเดือน ก.ค. ดังนั้นกรธ.จะพิจารณาเฉพาะข้อเสนอที่เป็นสำคัญ แต่ขอยืนยันว่า กรธ. จะเร่งทำงานให้เสร็จตามกรอบระยะเวลาอย่างแน่นนอน