*DSI ใช้เวลา2-3เดือนสอบสมเด็จช่วง ผิดหรือไม่ครอบครองรถหรู*

18 กุมภาพันธ์ 2559, 11:22น.


ขั้นตอนหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) แถลงว่า รถหรูเมอร์ซิเดส รุ่น เอสคลาส เบนซ์ ทะเบียน ขม 0099 ที่อยู่ในความครอบครองของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือ สมเด็จช่วง วัดปากน้ำภาษีเจริญ ผิดกฎหมาย  พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยว่า ดีเอสไอยังไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ที่ครอบครองรถคือ สมเด็จช่วง มีความผิดตามกฏหมายหรือไม่ หลังจากนี้จะสอบสวนอีกครั้ง โดยจะสอบถามว่ารถยนต์คันดังกล่าวได้มาอย่างไร ซื้อมาจากไหน และมีราคาเท่าไหร่ กระบวนการซื้อทั้งหมดเป็นอย่างไรมีหลักฐานหรือไม่ และจะนำมาสรุปอีกครั้งว่าตรงกับข้อมูลที่ดีเอสไอได้รับมาหรือไม่ คาดว่าจะใช้เวลาในการตรวจสอบ 2-3 เดือนนี้ จึงจะแล้วเสร็จ ซึ่งอธิบดีดีเอสไอ ยืนยันว่า จะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กระบวนการตรวจสอบเป็นเพราะมีคนร้องเรียนเข้ามาจึงรับเป็นคดีพิเศษ และขั้นตอนการสอบสวนทำตามหลักการและตรงไปตรงมา สามารถตรวจสอบตามความเป็นจริงได้ สำหรับรถจดประกอบคันดังกล่าวนี้จะยังคงอยู่ในการครอบครองของสมเด็จช่วง จนกว่ากระบวนการสอบสวนจะแล้วเสร็จ



จากการตรวจสอบใน 4 ขั้นตอนหลัก คือ ขั้นตอนการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ พบว่า ห้างหุ่นส่วนจำกัด อ๊อด 89 เอ็นเตอร์ไพรส์ เป็นผู้นำเข้า อะไหล่รถยนต์บางส่วน จากนั้นในขั้นตอนการจดประกอบขึ้นเป็นชิ้นส่วนรถสมบูรณ์ พบหลักฐานว่า หจก.อ๊อด ฯ ได้ร่วมกับอู่วิชาญเป็นผู้ประกอบรถยนต์จากเครื่องยนต์ เป็นไปตามกับการสั่งซื้อของ หลวงพี่แป๊ะ หรือ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ในจำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งจากการสืบสวนพบว่าอู่วิชาญไม่มีใบอนุญาตประกอบอุตสาหกรรมและไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้องกับกรมสรรพสามิต



ส่วนขั้นตอนการชำระภาษีกรมสรรพสามิต พบหลักฐานว่า นายชลัช เป็นผู้ดำเนินการนำเอกสารชุดประกอบรถยนต์ดังกล่าวไปชำระภาษีฯ โดยการปลอมลายมือชื่อนางกาญจนา เจ้าของอู่ N.P. การาจ แสดงตนเพื่อขอชำระภาษีประกอบรถยนต์ ปลอมลายมือในหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งให้นายชลัชเป็นผู้รับมอบอำนาจจากนางกาญจนา และยื่นเอกสารขอจดแจ้งในการประกอบรถยนต์ ซึ่งพนักงานสอบสวนตรวจสอบพบว่านางกาญจนา มีโรงประกอบรถยนต์ที่จดทะเบียนกับกรมสรรพสามิตอย่างถูกต้อง แต่นางกาญจนาไม่ได้เป็นผู้จดประกอบรถคันนี้ แค่เป็นการแอบอ้างชื่อ ซึ่งใน 3 ขั้นตอนดังกล่าวแต่ละขั้นตอนมีความผิดข้อหาต่างกัน



สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกพบหลักฐานว่านายชลัชได้ว่าจ้างให้นายสมนึก นำรถยนต์ไปจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกโดยมีการปลอมและใช้เอกสารที่มีลายมือชื่อของนางกาญจนาในแบบคำขอโอนและรับโอนของกรมการขนส่งทางบก จากนางกาญจนาไปยังสมเด็จช่วง หรือที่เรียกว่าการโอนลอยเพื่อแสดงว่าบริษัทของนางกาญจนาเป็นผู้ขายรถยนต์ต่อให้สมเด็จช่วง ซึ่งในขั้นตอนนี้นายสมนึกเปรียบเสมือนคนรับจ้างจดทะเบียน โดยมีการชี้แจงจากนายสมนึกว่าเอกสารต่างๆที่ได้รับมามีลายเซนต์ของสมเด็จช่วงตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ดีเอสไอจึงเห็นว่าขั้นตอนการนำเข้าการประกอบรถยนต์ การเสียภาษีกรมสรรพสามิต การจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบก ไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยมีความผิดตาม พ.ร.บ.กรมศุลกากร พ.ร.บ.กรมสรรพสามิต และความผิดทางกฏหมายอาญา การปลอมแปลงเอกสาร แจ้งความเท็จเป็นต้น



ผู้สื่อข่าว: พนิตา สืบสมุทร



 

ข่าวทั้งหมด

X