ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่รีสอร์ทซันนีแลนด์ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ ระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. โดยผู้นำและตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน และประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐ ออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำหลักการสำคัญในความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย รวมถึงการเคารพอธิปไตยซึ่งกันและกัน บูรณภาพแห่งดินแดน ความเท่าเทียม และเสรีภาพทางการเมืองในทุกประเทศ นอกจากนี้ยังระบุถึงการให้คำมั่นร่วมกัน ในการแก้ไขข้อพิพาทด้วยแนวทางแห่งสันติ ย้ำพันธกิจในการรักษาสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพในภูมิภาค เพื่อรับประกันความปลอดภัยในการเดินเรือ รวมถึงเสรีภาพในการเดินเรือและการบินผ่านพื้นที่ทะเลจีนใต้ซึ่งตกเป็นประเด็นพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ระหว่างจีนและหลายประเทศโดยรอบ
ด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ นายโอบามาเผยว่า มีความคืบหน้าไปมากทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยรัฐบาลสหรัฐได้นำเสนอกรอบความร่วมมือใหม่ที่เรียกว่า 'ยูเอส-อาเซียน คอนเน็คต์' (US-ASEAN Connect) ซึ่งจะเป็นแผนความร่วมมือที่ช่วยส่งเสริมให้ประเทศอาเซียนดำเนินการตามเงื่อนไขและบรรลุเกณฑ์ที่จะสามารถเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) และส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัน แผนความร่วมมือนี้จะมีการจัดตั้งสำนักงานใน 3 เมืองใหญ่ของอาเซียน ได้แก่ กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย กรุงเทพฯ และสิงคโปร์
รายงานตัวเลขจากทำเนียบขาวระบุว่า มูลค่าการค้าและบริการระหว่างสองฝ่าย เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าตัวนับตั้งแต่คริสต์ทศวรรษปี 1990 โดยตัวเลขของปี 2557 อยู่ที่ 254,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9 ล้านล้านบาท) และสร้างอาชีพให้แก่ชาวอเมริกันราวครึ่งล้าน
ส่วนการเคลื่อนไหวจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำสหรัฐที่ให้การต้อนรับผู้นำจากประเทศในอาเซียนที่ไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเสรีเกิดขึ้นในประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีโอบามาก็ยืนยันว่า สหรัฐจะยืนหยัดเคียงข้างประเทศเหล่านั้นในการเดินหน้าไปสู่การยกระดับการบังคับใช้กฎหมายและการบริหารราชการ และยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือน
CR: คลังภาพรัฐบาลไทย