องค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ) หน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหประชาชาติกล่าวว่าจากปัญหาไวรัสซิกาที่แพร่ระบาดหนักในทวีปอเมริกาในขณะนี้ ประเทศต่างๆที่ต่อสู้กับไวรัสซิกาควรจะใช้ทั้งวิธีการทั้งเก่าและใหม่ๆเพื่อป้องกันไวรัสซิกา ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะ รวมถึงการทดลองปล่อยยุงตัดต่อทางพันธุกรรมออกสู่ระบบนิเวศน์ วิธีนี้ทำการวิจัยโดยบริษัทออกซิเทค บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของอังกฤษ เมื่อตัดต่อทางพันธุกรรมแล้ว ตัวอ่อนของยุงจะตายก่อนมีพัฒนาการเต็มที่ ทำให้ไม่อาจจะแพร่พันธ์ต่อไป จะมีการทดลองวิธีนี้เพิ่มเติมหลังพบว่าการทดสอบในหมู่เกาะเคย์แมนได้ผลดี
วิธีต่อไปคือ การปล่อยแมลงตัวผู้จำนวนมากๆที่ถูกทำหมันโดยการฉายรังสีอ่อนๆ วิธีนี้สำนักงานพลังงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ(ไอเออีเอ)พัฒนาขึ้นมาเพื่อกำจัดศัตรูพืชในพื้นที่เพาะปลูก อีกทางเลือกหนึ่งคือใช้แบคทีเรียวอลบาเชีย ซึ่งไม่มีผลเสียต่อมนุษย์ แต่จะทำให้ไข่ติดเชื้อของยุงลายตัวเมียไม่ฟักไข่ นักวิจัยพบว่าหลังการปล่อยยุงลายที่มีเชื้อแบคทีเรียวอลบาเชียออกสู่ระบบนิเวศน์ มีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดโรคไข้เลือดออกของมนุษย์ โดยดับเบิลยูเอชโอ ระบุว่าการทดลองภาคสนามครั้งใหญ่จะมีขึ้นในเร็วๆนี้
ที่ผ่านมาไวรัสซิกา แพร่ระบาดอย่างหนักในทวีปอเมริกา ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากยุงลาย ซึ่งดับเบิลยูเอชโอมองเรื่องนี้ว่าเป็นทั้งภัยอันตรายและโอกาส ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าไวรัสซิกามีความเชื่อมโยงกับกรณีเด็กทารกคลอดออกมามีศรีษะและสมองเติบโตช้ากว่าปกติและทำให้ระบบประสาททำงานผิดปกติในกลุ่มคนไข้ผู้ใหญ่ ซึ่งเรียกว่ากลุ่มอาการกีแยง-บาร์เรหรือเป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองอย่างหนึ่ง ที่ผ่านมา มีเด็กทารกที่ติดไวรัสซิกา คลอดออกมามีศรีษะเล็กกว่าปกติกว่า 4,300 คนในบราซิล/20.41 น.