พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เข้าร่วมการประชุม สุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา สมัยพิเศษ (The U.S.-ASEAN Leaders Summit) ตามคำเชิญของนายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยประเด็นสำคัญที่ไทยและอาเซียนจะร่วมกันผลักดัน ได้แก่ การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์อาเซียนสหรัฐในทุกมิติ การเน้นย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค การสานต่อความเป็นหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การขยายความร่วมมือในประเด็นความมั่นคงรูปแบบใหม่ ความเชื่อมั่นของต่างชาติต่อไทย โดยเฉพาะในกลุ่มนักธุรกิจและนักลงทุนสหรัฐ
ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญ นายชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ จะเป็นการรวบรวมข้อเสนอแนะร่างแรกรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่าย จากนั้นจะหารือแนวทางการทำงาน วางกรอบการพิจารณาเพื่อให้ร่างสุดท้ายเสร็จทันวันที่ 29 มีนาคม เพื่อให้เริ่มการทบทวนในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยประเด็นที่จะปรับแก้ อาจเป็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีการทักท้วงว่า ต้องการให้กำหนดไว้ในมาตรา 4 เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา นอกจากนี้จะแก้ไขมาตรา 37 เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความชัดเจนขึ้น
นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกกรธ. กล่าวว่า ประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ยังสามารถเสนอความเห็นได้จนถึงวันที่ 27 มีนาคมนี้ และมีความยินดีหากพรรคการเมืองอยากเชิญ กรธ.ไปอธิบายเพราะกรธ. ต้องการให้การเมืองเป็นที่ยืนของคนทุกกลุ่มหรือคนหน้าใหม่บ้าง ไม่ใช่วนอยู่แค่คนกลุ่มเดิมๆ จึงสร้างกลไกให้เปิดกว้างมากกว่าเก่า
ส่วนการประชุมของ สปท.ในวันนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท. คนที่ 1 เปิดเผยว่า จะเป็นการประชุมให้ความเห็นชอบข้อเสนอแนะในการเพิ่มเติมปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญต่อกรธ. โดยเฉพาะการเสนอให้แยกหมวดว่าด้วยการปฏิรูปประเทศเป็นบทบัญญัติต่างหาก เพราะการปฏิรูปต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงสมควรอยู่ในส่วนรัฐธรรมนูญถาวร โดยข้อเสนอของสปท.จะครอบคลุมการปฏิรูป 11 ด้าน ตามบทบัญญัติมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว และการบัญญัติให้มียุทธศาสตร์ชาติอยู่ในรัฐธรรมนูญด้วย
ด้านสถาบันพัฒนาการเมือง (สพม.) นายธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ประธานสภาพัฒนาการเมือง ในวันนี้ จะยื่นข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขในเรื่องความชัดเจนหลักการว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของบุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชน , วิธีการเลือกตั้งส.ส. รวมถึงวิธีการได้มาของส.ว. , อำนาจศาลรัฐธรรมนูญ , ไม่มีการกำหนดหลักการว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยฯ และยังวางหลักการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ยาก
ส่วนการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 16 กุมภาพันธ์นี้ นอกจากการรับทราบผลการหารือร่วมระหว่าง กกต.และรัฐบาล เกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา จะมีการพิจารณาเรื่องการเพิ่มเติมหรือปรับแก้ลักษณะความผิด และช่องทางการกระทำผิดที่จะมีโทษทางอาญา ในร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่กกต.ยกร่างเสร็จแล้ว รวมทั้งจะปรับเป็นร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ มีความเห็นในชั้นหารือร่วมกันหรือเสนอเป็นร่างกฎหมายแล้วให้รัฐบาลไปพิจารณาว่าจะตราเป็นพ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.
สำหรับ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความเรียบร้อยในการออกเสียงประชามติ ที่กกต.ยกร่างเสร็จสิ้นมี 16 มาตรา ซึ่งมีเนื้อหาคล้ายฉบับปี 2550 อาทิ หากจัดให้มีการพนันมีผลจูงใจให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง เรียก หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนและผู้อื่นเพื่อไม่ไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ทั้งห้ามจัดยานพาหนะนำผู้มีสิทธิไปหรือกลับจากที่ออกเสียงโดยไม่เสียค่าโดยสาร ค่าจ้างตามปกติ รวมถ้าจูงใจ ควบคุมให้ผู้มีสิทธิออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีโทษจำคุก 1-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ห้ามเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็นการออกเสียง 7 วัน ก่อนการออกเสียงจนถึงเวลาสิ้นสุดการออกเสียงในวันออกเสียง ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 6 พันบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
นอกจากนี้ยังห้ามเผยแพร่ ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง มีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ หรือลักษณะอื่นใดโดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิไปออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยผู้ที่กระทำผิดทั้งก่อความวุ่นวายฯ ให้ สัญญาว่าจะให้ หลอกลวง บังคับขู่เข็ญ จนต้องมีการออกเสียงประชามติใหม่ ผู้นั้นต้องรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายออกเสียงประชามติใหม่ด้วย
และวันนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะแถลงเรื่องการจ่ายเงินเยียวยาตามหลักมนุษยธรรมแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ปี 2556-2557 ตามมติ ครม.มีมติเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 ที่เห็นชอบให้ใช้งบกลางฯ 120 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการฯ ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีจำนวน 868 ราย คือผู้เสียชีวิต 28 ราย บาดเจ็บ 840 ราย ขอให้ผู้ได้รับผลกระทบลงทะเบียนยื่นคำร้องรับเงินเยียวยาระหว่างวันที่ 17 กุมภาพันธ์-17 มีนาคมนี้ กรุงเทพฯ ลงทะเบียนที่กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ พม. ส่วนต่างจังหวัดเปิดลงทะเบียนที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ทุกจังหวัด
*-*