*12ชาติร่วมลงนาม ข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เอเชียแปซิฟิก หรือ ทีพีพี อย่างเป็นทางการ

04 กุมภาพันธ์ 2559, 14:07น.


ผู้แทนจาก 12 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา สหรัฐ เม็กซิโก เปรู ชิลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม บรูไน และญี่ปุ่น ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือทีพีพี (Trans-Pacific Partnership) ที่ศูนย์ประชุมสกายซิตี้ในเมืองออคแลนด์ของนิวซีแลนด์ ในวันพฤหัสบดี โดยมีนายจอห์น คีย์ นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ และนายไมค์ โฟรแมน ผู้แทนการค้าสหรัฐ เป็นประธานในพิธี ทีพีพี เป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีเนื้อหากว้างขวางครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการ ไม่เพียงแต่การลดกำแพงภาษีในการส่งออกและนำเข้า แต่รวมไปถึงที่มาของสินค้า สิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน และทรัพย์สินทางปัญญา  



สหรัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันข้อตกลงฉบับนี้ ชี้ว่า ทีพีพี จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในโลกธุรกิจและการค้าของศวตวรรษที่ 21 โดยนายคีย์ กล่าวว่า มีหลายประเทศแสดงความสนใจในการเข้าร่วมทีพีพี นอกจากเนื้อหาแล้ว สมาชิกและปัจจัยทางภูมิศาสตร์ยังเป็นอีกหนึ่งความน่าสนใจของทีพีพี ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของประเทศต่างๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันถึงร้อยละ 40 ของโลก และมีตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) รวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 36 ของจีดีพีโลก



หลังจากนี้ประเทศสมาชิกมีเวลา 2 ปี ในการนำข้อตกลงนี้เข้าสู่กระบวนการรับรองในรัฐสภาของตนก่อนที่ข้อตกลงจะมีผลบังคับใช้ ทั้งนี้ แม้รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะพยายามชูจุดเด่น ข้อได้เปรียบ และประโยชน์ที่จะเกิดแก่พลเมืองอเมริกัน ทั้งในภาคเกษตร แรงงาน และธุรกิจ รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะอยู่ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.5 ล้านล้านบาท) ต่อปี แต่ยังคงมีแรงต้านจากกลุ่มการเมืองบางส่วน ที่กังขาเกี่ยวกับรายละเอียดที่ซับซ้อนและไม่เปิดเผยของข้อตกลงฉบับนี้ เช่นเดียวกันกับกระแสต่อต้านทีพีพีในอีกหลายประเทศสมาชิก ที่มองว่าข้อตกลงฉบับนี้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐ และหวั่นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะกระทบต่อการจ้างงาน และอำนาจอธิปไตยของประเทศต่างๆ ในภูมิภาค ทั้งนี้ ในความตกลงดังกล่าว นิวซีแลนด์ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบงานด้านการบริหารจัดการ.

ข่าวทั้งหมด

X