*นักวิจัยเสนอแนวคิดทำหมันยุงลาย สกัดวงจรไข้เลือดออก-ซิกา*

03 กุมภาพันธ์ 2559, 16:28น.




ยุงลายเป็นพาหะนำโรคไข้เลือดออก และเชื้อไวรัส ซิกา รศ.สุพัตรา ทองรุ่งเกียรติ นักวิจัยภาควิชากีฏวิทยาการแพทย์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า กรณีการศึกษาวิจัยทำหมันยุงลายตัวผู้ เพื่อไม่ให้ผสมพันธุ์ และแพร่ประชากรยุงลาย รวมถึงการตัดแต่งพันธุกรรมยุงลาย ว่า ที่ผ่านมามีการทำในห้องปฏิบัติการเท่านั้น ซึ่งผลออกมาพบว่าสามารถควบคุมปริมาณยุงได้ดี เนื่องจากเป็นการทดลองแบบจำกัดพื้นที่ แต่ยังไม่มีการปล่อยออกสู่ธรรมชาติ เพราะยังต้องมีการศึกษาอีกมาก เช่น ต้องปล่อยยุงที่เป็นหมันออกสู่ธรรมชาติจำนวนมากเพียงใด ต้องปล่อยซ้ำมากน้อยเพียงใด จึงจะไปแย่งชิงการผสมพันธุ์กับตัวเมียได้ และยุงที่มีการทำหมัน หรือตัดแต่งพันธุกรรม จะแข็งแรงพอที่จะอยู่ในธรรมชาติมากแค่ไหน ส่วนเมืองไทยมีการศึกษาเรื่องนี้บ้าง แต่ยังไม่มีการปล่อยสู่ธรรมชาติ แต่มีบางประเทศที่มีการปล่อยออกสู่ธรรมชาติบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงวงจำกัด



สำหรับประเทศไทยเชื่อว่ายุงลายที่มีเชื้อซิกาจะมีปริมาณน้อย สะท้อนได้จากที่พบผู้ป่วยโรคซิกาน้อย แตกต่างจากโรคไข้เลือดออก และจากข้อมูลนี้สะท้อนว่ายุงลายในประเทศไทยมีเชื้อซิกาน้อย และมีเชื้อไวรัสเดงกี่มากกว่า จากการที่คณะเวชศาสตร์ฯ ได้ทำการศึกษาลูกน้ำในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกซ้ำซาก 5 ปี ในเขตบางขุนเทียน ผลการศึกษาพบว่า ในเดือน เม.ย.จะเป็นช่วงเวลาที่ยุงมีเชื้อไวรัสเดงกีสูงที่สุด ซึ่งเป็นหน้าแล้ง แต่การระบาดของไข้เลือดออก ก็จะเกิดในหน้าฝน เพราะฉะนั้นการจะควบคุมโรคต้องทำตั้งแต่ช่วงหน้าแล้งที่ยุงมีปริมาณเชื้อมาก ซึ่งการศึกษาครั้งนี้อาจนำมาใช้เป็นตัวคาดการณ์พื้นที่ระบาดได้ และในอนาคตอาจใช้เป็นโมเดลในการศึกษาปริมาณซิกาในยุงลายต่อไป หากพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยโรคซิกาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น



รวมถึง ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องนี้เพื่อยืนยันข้อมูลว่ายุงลาย 1 ตัวนำเชื้อไวรัสได้ 1 ชนิด หรือสามารถนำเชื้อได้หลายชนิด ทั้งนี้ เชื้อไวรัสที่นำโดยยุงจะอยู่ในกระแสเลือดราว 10 วัน ดังนั้นหากยุงกัดในช่วงเวลานี้ก็จะได้รับเชื้อ แต่ถ้าพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วก็จะไม่ได้เชื้อ โดยยุงที่กินเลือดจะเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น และเป็นพาหะของโรค



น ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้เรื่องการถ่ายทอดไวรัสซิกาผ่านทางเพศสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องที่ทราบมานานแล้ว นอกจากนี้ ยังสามารถ่ายทอดผ่านทางน้ำนม และสายรกได้ด้วย เมื่อรับเชื้อเข้าไปแล้วจะมีระยะฟักตัว 2-7 วัน โดยช่วง 2-5 วันแรกจะมีไข้ ผื่นขึ้นตามตัว ปวดเมื่อย อาการคล้ายไข้เลือดออก และโรคที่นำโดยยุง โรคนี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างโรคไข้เลือดออก แต่ที่เป็นปัญหาคือทำให้ทารกแรกคลอดมีศีรษะเล็ก พิการทางสมองแต่กำเนิด ถ้าจะเปรียบซิกาก็เหมือนโรคหัดเยอรมันที่ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต แต่ทำให้เด็กพิการ.

ข่าวทั้งหมด

X