*มีชัย ชี้แจงการร่างรัฐธรรมนูญต่อสนช.-สปท. ย้ำแก้ปัญหาประเทศ ไม่ละเลยสิทธิเสรีภาพ*

03 กุมภาพันธ์ 2559, 14:40น.


การชี้แจงสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นผู้อภิปรายชี้แจงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัย ระบุว่า การทำงานของกรธ. ดำเนินการตามกรอบของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งมีโจทย์หลักว่าจะต้องขจัดปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยให้หมดสิ้น รวมทั้งหาทางออกให้ประเทศในยามวิกฤตได้ ป้องกันการทุจริตไม่ให้กลับมาเล่นการเมือง โดยกรธ. ได้มีการหารือกันว่าจะต้องมีการอุดช่องว่างของร่างรัฐธรรมนูญและได้ข้อสรุปของปัญหาได้ 3 ข้อ คือ การทุจริต ประพฤติมิชอบ ที่นับวันจะเริ่มมีมากขึ้นและประชาชนเริ่มยอมรับกันมากขึ้น, ความมีวินัยของประชาชนทุกวันนี้ยังย่อหย่อน แม้จะมีการออกกฎหมายบังคับ แต่ก็ยังไม่ปฏิบัติตาม และสุดท้ายคือ การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มงวด เท่าที่ควร



แม้ว่ากรธ. จะมุ่งเน้นใน 3 ประเด็นหลักข้างต้น แต่ก็ยังรองรับสิทธิ เสรีภาพของประชาชน โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการร่างในส่วนของสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล เว้นไว้แต่จำกัดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ หลายฝ่ายอาจจะตั้งข้อสังเกตว่า ฝ่ายบริหารอาจจะออกกฎหมายจำกัดสิทธิมนุษยชนย้อนหลังได้ ซึ่งกรธ. ก็ได้มีการเขียนกำกับไว้ว่า การออกกฎหมาย จะต้องคำนึงถึงประชาชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และรัฐจะไม่ออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเกินควร และการใช้สิทธิ เสรีภาพ จะไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น โดยสิทธิ เสรีภาพ ได้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ สิทธิเสรีภาพแบบปัจเจกชน เช่น สิทธิในการพูด แสดงความคิดเห็น การเลือกที่อยู่อาศัย และสิทธิเสรีภาพส่วนรวมที่ทุกคนจะต้องพึงมี โดยรัฐจะจัดการเรื่องนี้ให้กับประชาชนเอง



ส่วนในเรื่องการเลือกตั้ง ได้มีการเสริมอำนาจให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีกลไกป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นให้หมดไป และหากพบว่ามีการทุจริตจะต้องตัดสิทธิให้สมัครรับเลือกตั้งอีกไม่ได้ ซึ่งบทลงโทษนี้เป็นบทลงโทษที่รุนแรง การทุจริตจะน้อยลง รวมทั้งได้บัญญัติลักษณะต้องห้ามให้กว้างขึ้น โดยผู้ที่กระผิดกฎหมาย ทั้งการฟอกเงิน การค้ามนุษย์ ทุจริต การพนัน ฯลฯ ไม่สามารถลงรับเลือกตั้งได้



ด้านประเด็นของการเลือกนายกรัฐมนตรี ประชาชนจะต้องรู้ข้อมูลให้มากขึ้นก่อนการลงคะแนนเสียง จึงเสนอรายชื่อ 3 รายชื่อของว่าที่นายกรัฐมนตรี ซึ่งหลายฝ่ายอาจระบุว่าเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนนี้ทางพรรคการเมืองจะเป็นผู้สรรหารายชื่อขึ้นมาเอง



สำหรับองค์กรอิสระ กรธ. ไม่ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาใหม่ แต่ได้กำหนดคุณลักษณะของผู้ที่จะเข้ามาทำงานในองค์กรอิสระให้มากขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่เข้ามาทำงานคือผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ กล้าหาญ และสามารถใช้ดุลยพินิจในการทำงานได้เป็นอย่างดี ตรงไปตรงมา กล้าตัดสินในเรื่องที่ถูกต้อง ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างองค์กร ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการวินิจฉัย การข้อยุติ โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการปลดใคร



นอกจากนี้ในส่วนของการปฏิรูป จะต้องแก้ที่กระบวนการศึกษา ตั้งแต่เด็กก่อนวัยเรียน โดยจะต้องมีการทำแผนและลงมือทำให้ได้ภายใน 1 ปี ส่วนบทเฉพาะกาล จะระบุถึงองค์กรที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อจะได้ใช้ในช่วงที่มีการถ่ายเทอำนาจไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น



ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข  



 

ข่าวทั้งหมด

X