กรณีนางดลฤดี จำลองราษฏร์ อดีตอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทย์ ม.มหิดล ที่ได้รับทุนเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา จนจบปริญญาเอก แต่กลับหนีทุนไม่ใช้หนี้จนทำให้ผู้ค้ำประกัน 4 ราย ต้องร่วมชดใช้เงินให้กับม. มหิดล ประมาณ 10 ล้านบาท ศ.นพ.บรรจง มไหสวิริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ว่าที่ผ่านมามหาวิทยาลัยได้ติดตามและทวงถามตามขั้นตอนมาโดยตลอด แต่เมื่อไม่ได้มาชดใช้ตามกำหนด ในทางกฎหมายจึงจำเป็นต้องฟ้องต่อศาลปกครองกลางให้ศาลมีคำสั่งให้อดีตทันแพทย์หญิงและผู้ค้ำประกันชดใช้เงินให้แก่ทางราชการ ซึ่งในส่วนของผู้ค้ำประกันทั้ง 4 ราย ได้รับการลดหย่อนภาระหนี้และผ่อนชำระหนี้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แม้ผู้ค้ำประกันทั้ง 4 คนจะชำระหนี้ทั้งหมดตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว แต่ในส่วนของนางดลฤดีก็จะยังต้องชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยรวม 30 ล้านบาทเหมือนเดิม
สำหรับการติดตามบังคับทรัพย์สินของอดีตทันตแพทย์หญิงรายนี้ ที่อยู่ต่างประเทศทางมหาวิทยาลัยมหิดลไม่สามารถดำเนินการในคดีแพ่งได้ เนื่องจากเป็นกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เจ้าหนี้จึงไม่สามารถติดตามบังคับคดีนอกราชอาณาจักรได้ แต่มหาวิทยาลัยและ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ ส.ก.อ. จะร่วมกันพิจารณายื่นให้เป็นบุคคลล้มละลาย เพื่อหากทันตแพทย์หญิงเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็จะสามารถกักตัวไว้ได้ทันที ซึ่งในคดีนี้คดีความจะหมดในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้
สำหรับเหตุผลที่มหาวิทยาลัยได้อนุญาตให้นางดลฤดีลาออกจากราชการได้นั้น ตามระเบียบของ ก.พ. ทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถยับยั้งได้ ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการชดใช้ทุน ทั้งนี้ทันตแพทย์หญิงดลฤดี ได้ยื่นขอลาออกช่วงเดือนพฤศจิกายน 2546 แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ได้มีการอนุมัติ พร้อมยังได้ส่งหนังสือทวงหนี้ติดตามอีกด้วย จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2547 นางดลฤดีได้ยื่นจดหมายลาออกเป็นทางการตามขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งทางมหาวิทยาลัยไม่มีสิทธิ์ยับยั้งได้ เนื่องจากขอลาออกจากราชการกับการชดใช้เงินทุน เป็นคนละกรณีกัน จึงอนุมัติให้ลาออก ตามระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยการลาออกจากราชการของข้าราชการพลเรือนสามัญ พ.ศ. 2551
ส่วนกรณี ผู้ค้ำประกันก็ยังได้มีการติดต่อกับทันตแพทย์หญิงดลฤดีเพื่อให้มาชำระหนี้แต่ได้ปฎิเสธพร้อมชี้แจงว่า ไม่มีเงินมากขนาดนั้น และเห็นว่าจำนวนที่ทางมหาวิทยาได้แจ้งยอดมาเป็นจำนวนเกินกว่าที่ได้ใช้ไปเพียง 10 ล้านบาท จึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทางมหาวิทยาลัยจึงเชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ไม่ยอมชำระหนี้ แต่ยืนยันว่าจำนวนยอดหนี้ที่ต้องชำระ เกิดจากการเลี่ยงชำระหนี้จนทำให้ต้องเสียเบี้ยปรับจำนวน 2 เท่า ศ.นพ.บรรจง กล่าวด้วยว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะจะทำให้ผู้ที่ขอทุนรุ่นต่อไปเสียโอกาสมากขึ้น และจะนำกรณีเป็นกรณีศึกษาในการพิจารณาการให้ทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศ