การติดตามความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา และโรงไฟฟ้ากังหันลมลำตะคอง จ.นครราชสีมา พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางลงพื้นที่ พร้อมด้วยนายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทั้งสองโครงการถือเป็นโครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างในระยะที่สองเพื่อสานต่อความสำเร็จในระยะแรก พลเอกอนันตพร กล่าวว่า กฟผ.จะดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ เพิ่มอีกสองเครื่อง คือเครื่องที่3และ4 ซึ่งมีกำลังการผลิตเครื่องละ 250 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตที่ 500 เมกะวัตต์ พร้อมเดินสายส่งไฟฟ้าแรงสูงขนาด 230 เควี จำนวน2วงจร เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับสถานีไฟฟ้าแรงสูงท่าลาน3 จังหวัดสระบุรี ในระยะทาง 95 กิโลเมตร โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 และจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเดินเครื่องผลิตเต็มรูปแบบได้ในปี 2561 ภายใต้งบประมาณ 6,460 ล้านบาท ซึ่งมีความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้วประมาณร้อยละ 10
ด้านนายสุนชัย กล่าวว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญในการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหากโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มีกำลังผลิตรวมกับกำลังเดิมเป็น 1,000 เมกะวัตต์ สำหรับใช้เสริมระบบในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในแต่ละวัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นคงให้ระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวมถึงบริเวณใกล้เคียง และเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมในภูมิภาคนี้ ปัจจุบันกำลังผลิตของพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ประมาณ 4,900 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ประมาณ 3,600 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมยังมีข้อจำกัดเนื่องจากไม่สามารถควบคุมพลังงานจากธรรมชาติได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้า จากระบบกังหันลม กฟผ.ได้ต่อยอดโครงการศึกษาวิจัยการใช้ระบบ Wind-Hydrogen Hybrid ในการเก็บพลังงานจากกังหันลมในรูปของก๊าซไฮโดรเจนแปลงกลับเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือ Hydrogen Fuel Cell System เพื่อเก็บไฟฟ้าที่ผลิตในช่วงกลางคืนที่มีการใช้ไฟน้อย แล้วมาจ่ายไฟในช่วงกลางวันที่มีการใช้ไฟมาก โดยมีกำลังการผลิตประมาณ 300 กิโลวัตต์
ผู้สื่อข่าว: พนิตา สืบสมุทร