คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถามข้อสงสัยในเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่ 3 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตอบถึงเรื่องกลไกการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ว่าประเทศไทยใช้วิธีการยุบสภาในการแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง เพราะการยุบสภา 2 ครั้งล่าสุด สาเหตุเกิดจากความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ดังนั้นการแก้ปัญหาด้วยการยุบสภาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ซึ่งการใช้อำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ต้องดูที่สถานการณ์ หากประชาชน ออกมาชุมนุมกันตามปกติ ก็ไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษแต่ถ้าหากมีการใช้อาวุธที่รุนแรงหรือเหตุการณ์วุ่นวาย ก็ต้องนำมาพิจารณา
ส่วนอำนาจของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จะไปขัดกับรัฐบาลหรือไม่ นายคำนูญ สิทธิสมาน โฆษกคณะกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าตระหนักดีว่าอาจจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นบ้าง จึงได้พยายามหาทางออกในการแก้ไขด้วยตัวบทกฎหมาย ซึ่งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฎิรูปและการปรองดองแห่งชาติ จะมีสมาชิกที่มาจากหลากหลายองค์กรและหน่วยงาน และมีอำนาจหน้าที่ในการสร้างความปรองดองและเดินหน้าการปฏิรูปประเทศ ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินตามปกติ เช่นรัฐบาลได้ และไม่ได้แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อมาทำร้ายกัน ซึ่งหากมีการใช้อำนาจเกินความจำเป็นจะต้องถูกตรวจสอบโดยกระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ และกระบวนการรัฐสภา
ขณะที่ กรณีที่นักการเมืองบางกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)ที่ห้ามบุคคลที่เคยได้รับโทษจำคุกมาสมัครเป็น ส.ส. เป็นการจำกัดบางบุคคลหรือไม่ เป็นไปตามข้อกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วยอยู่แล้ว เพื่อที่จะได้บุคคลที่มีคุณธรรมจริยธรรมเข้ามาดำรงตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามก่อนเสร็จสิ้นการซักถาม นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่คู่มือที่แก้ปัญหาได้ทุกอย่าง ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้นำเอาอำนาจทั้งหมดรวมกันโดยไม่ได้กีดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่สำคัญนักการเมืองยังต้องมีความรับผิดชอบ และยังต้องเป็นผู้นำ ซึ่งความปรองดองไม่ได้เป็นเรื่องเฉพาะกฎหมาย แต่เป็นเรื่องที่จะทำอย่างไรให้ประชาขนกับภาครัฐเกิดความขัดแย้งน้อยลง
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี