การติดตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเป็นแหล่งสนับสนุนระบบชลประทานในพื้นที่ภาตใต้ตอนล่าง รวมถึงเป็นแหล่งที่สนับสนุนการผลิตพลังงานในพื้นที่ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภาคใต้ ช่วงบ่ายวันนี้นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี พร้อมด้วยหม่อมหลวงจิรพันธุ์ ทวีวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และคณะ ติดตามศึกษาดูการดำเนินงานของเขื่อนรัชชประภา ซึ่งเป็นเขื่อนภายใต้การดูแลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลเขาพัง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี
นายดิลก ธโนศววย์ ผู้อำนวยการเขื่อนรัชชประภา กล่าวว่า เขื่อนแห่งนี้เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2525 แล้วเสร็จในปี 2530 มีระดับเก็บกักน้ำอยู่ที่ 5,639 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเขื่อนเอนกประสงค์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคใต้ และใช้เป็นแหล่งสนับสนุนระบบชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างเป็นแหล่งสนันสนุนด้านพลังงานไฟฟ้า โดยที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ เป็นแหล่งสร้างรายได้ แหล่งท่องเที่ยว โดยเขื่อนแห่งนี้วัตถุประสงค์หลัก เพื่อบริหารด้านระบบชลประทานให้มีความมั่นคง ก่อนที่น้ำจะไหลลงสู่พื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งงานสนับสนุนด้านชลประทาน ที่ทางเขื่อนสนับสนุน คือ ใช้สำหรับทำการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงที่ใช้น้ำ 123 ลูกบาศก์เมตร/ต่อปี ส่วนงานด้านการสนับสนุนน้ำใช้อุปโภค บริโภคของการประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้ 69 ล้านลูกบาศก์เมตร/ต่อปี
ส่วนงานรองลงมาใช้เพื่อส่งเสริมการผลิตพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ประมาณร้อยละ10 หรือสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำได้ปีละ 240 เมกะวัตต์ ส่วนการผลิตพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ที่เหลือจะมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา และโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยใช้พลังงานก๊าซและน้ำมัน แต่ก็มีบางส่วนที่จะนำเข้าพลังงานมาจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งถือว่าระบบการจัดการของเขื่อนแห่งนี้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างมีความมั่นคง
ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนตอนนี้มีประมาณร้อยละ 82 หรือถ้าเป็นน้ำที่ใช้การได้มี 3,270 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจากการประเมินที่เหลือหน้าฝนอีก 2 เดือน คาดว่าปริมาณน้ำในเขื่อนจะมีใช้เพียงพอไปจนถึงฤดูแล้งปีหน้า
อย่างไรก็ตาม นอกจากงานหลักของเขื่อนรัชชประภา ที่ใช้บริหารทางด้านระบบชลประทาน และสนับสนุนการผลิตไฟฟ้า เขื่อนแห่งนี้ยังเป็นแหล่งทำประมงในพื้นที่ ซึ่งปีๆหนึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนโดยรอบ จากการเลี้ยงปลาในกระชัง ปีหนึ่งมากกว่า 4 ล้านบาท นอกจากนี้ก็ส่งเสริมให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว จนได้รับยกย่องว่า เสมือนกุ้ยหลินเมืองไทย ที่ปีหนึ่งมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวมากกว่า 150,000 คน สามารถกระจายรายได้ในท้องถิ่นให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเช่นกัน
ส่วนบรรยากาศช่วงเย็นที่เขื่อนรัชชประภา บรรยากาศสวยงามมาก ถึงอากาศจะร้อนเมื่อช่วงบ่ายแต่ก็สวยงาม จากการสอบถามกับเจ้าหน้าที่ก็เล่าให้ฟังช่วงนี้ ปกติฝนจะตกเกือบตลอดทุกวัน เนื่องจากช่วงนี้มรสุมเข้า ส่วนการเดินทางของนักท่องเที่ยว มักจะนิยมมาเที่ยวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากภาคกลาง กรุงเทพมหานคร รองลงมาก็มาจากจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งมักจะมาพักค้างคืนบนแพ และทำกิจกรรมเล่นน้ำ ล่องแพ และตกปลา
ผู้สื่อข่าว:วิรวินท์ ศรีโหมด