*เครือข่ายอนาคตไทย เปิดตัว โครงการรณรงค์อย่าให้ใครว่าไทย*

19 สิงหาคม 2558, 15:05น.


การรณรงค์สร้างค่านิยมที่ดีสำหรับคนไทย  เครือข่ายอนาคตไทย เปิดตัวโครงการรณรงค์ "อย่าให้ใครว่าไทย" และ "เครือข่ายอนาคตไทย" ที่ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยความร่วมมือของ 77 องค์กร ซึ่ง จส.100 ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมผนึกกำลังครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งสร้างพฤติกรรมบวกเพื่ออนาคตไทยด้วย ซึ่งก่อนจะเปิดงาน ผู้เข้าร่วมงานได้มีการยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ด้วย



ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา รองประธานกรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยค่อนข้างน่าเป็นห่วงประชาชนคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมฟุ้งเฟ้อ เป็นเหมือนคนป่วยที่รับพฤติกรรมสิ้นเปลือง มีทัศนคติที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ซึ่งในอดีตประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ 5 เครือข่ายองค์กรหลัก ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มูลนิธิมั่นพัฒนา สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทย ได้ริเริ่มจึงเริ่มการรณรงค์ โดยมีภาคีเครือข่ายรวมกันอีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งการรณรงค์จะเริ่มรณรงค์ให้เลิก 4 พฤติกรรม ได้แก่ ขี้โกง มักง่าย ไร้สติ ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งวิธีแก้พฤติกรรมเหล่านี้ คือ นำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ มีความพอประมาณ มีเหตุมีผล เข้ามาดำรงชีวิต ส่วนตัวเชื่อว่าถ้านำหลักดังกล่าวมาใช้จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ชีวิตมีความสมดุล และยั่งยืน และจะต้องสร้างภูมิคุ้มกัน 4 ด้าน คือ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม



นายวิทวัส ชัยปราณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงยุทธศาสตร์การสร้างค่านิยมที่ดีให้กับคนไทย ว่า ลักษณะนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่ ชอบใช้เงินเกินตัว อวดร่ำอวดรวย ซึ่งปัญหาเรื่องการเงินเป็นปัญหาหลักที่สำคัญของประเทศในขณะนี้ หากประชาชนคนไทยมุ่งแต่จะหาเงิน จะทำให้ความมีน้ำใจของคนไทยน้อยลง มารยาททางสังคม กาลเทศะหายไป ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว คนรอบข้าง ไม่สนใจงานว่าจะทำผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะมุ่งแต่จะหาเงิน รวมทั้งไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง หากจะต้องเปลี่ยนแปลง คือ ต้องทำให้อับอายหรือจี้ให้เกิดความกลัว และต้องบอกให้ชัดเจนว่าทำเพื่ออะไร โดยสื่อเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ ยุทธศาสตร์การสร้างความรับรู้ปัญหาและการแก้ปัญหา โดยการทำสื่อโฆษณาเผยแพร่ทางวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ โซเชียลมีเดีย ส่วนกลยุทธ์ที่สองคือ การเรียนรู้โดยจะมีทีมงานลงพื้นที่เข้าหาประชาชนทั้งในเขตกรุงเทพและต่างจังหวัด เพื่อสร้างความเข้าใจ มีการจัดกิจกรรมต่างๆ และหลังจากนี้จะต้องมีการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

ข่าวทั้งหมด

X