*เถ้าฮงไถ่ โรงงานโอ่งขึ้นชื่อในราชบุรี พัฒนางานเซรามิก เพิ่มสี ลวดลาย ผสานศิลปะ ส่งออก*

07 สิงหาคม 2558, 18:14น.


การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรม "อารมณ์อาร์ตที่ราชบุรี อารมณ์ดีที่อัมพวา" โดยวันนี้ได้เดินทางมาที่ "เถ้าฮงไถ่" โรงงานเซรามิกที่ใส่ศิลปะลงไปในชิ้นงานได้อย่างลงตัว และสวยงาม ตั้งอยู่ที่ถนนเจดีย์หัก ตำบลเจดีย์หัก อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายมงคล เศรษฐีตระกูล ซึ่งเป็นดีไซน์เนอร์ ประจำโรงงาน เล่าให้ฟังว่า เถ้าฮงไถ่ เริ่มต้นตั้งแต่ปี2476 นายซ่งฮง แซ่เตีย มาพบแหล่งดินที่ราชบุรี จึงชวนเพื่อนมาตั้งโรงงานผลิตไหน้ำปลา โอ่งน้ำไม่มีลาย กระถางต้นไม้ เป็นโรงงานแห่งแรกของราชบุรี โดยชื่อโรงงาน เถ้าฮง ไถ่ ตามภาษาจีน เถ้า แปลว่าโอ่ง ไถ่ แปลว่าไทย จนมาถึงปัจจุบัน





จากนั้นนายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ทายาทรุ่นที่ 3 เล็งเห็นความอยู่รอดโรงงาน เนื่องจากขณะนั้นมีการแข่งขันสูง มีโรงงานโอ่งหลายสิบโรง เกิดภาวะโอ่งล้นตลาด และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เพราะคนต้องการโอ่งน้อยลง มีการใช้น้ำปะปา ไม่จำเป็นต้องเก็บน้ำอีกต่อไป จึงได้พัฒนางานเซรามิกที่หลุดกรอบเดิมๆ ออกมาเป็นงานศิลปะร่วมสมัย ใช้สอยได้จริง เช่น แจกัน โต๊ะ เก้าอี้ ที่ใส่เทียนหอม ตุ๊กตาเซรามิก และมีสีกว่า 600 สีในปัจจุบัน รูปร่างแปลกใหม่ตลอดเวลา เพราะมีการจ้างออกแบบ มีการรับสั่งทำตามแบบของลูกค้า ซึ่งมีราคาตั้งแต่ 100 บาท ถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว ส่วนใหญ่จะมีนายหน้าซื้อไปขายต่อในต่างประเทศ เพราะในต่างประเทศมีสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตเครื่องปั้น เพราะเครื่องปั้นจากดินเหนียวจะทำได้ดีในประเทศร้อนชื้น บางครั้งมีลูกค้ามาจ้างทำ ล่าสุดเป็นลูกชายของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินจากเชียงรายสั่งทำโอ่งมังกรขนาดใหญ่ด้วย





นอกจากนี้ดีไซน์เนอร์ ประจำโรงงาน เถ้าฮงไถ่ เล่าถึงวิธีการผลิตเครื่องปั้น ให้ฟังอีกว่า สมัยก่อนที่โรงงานแห่งนี้ให้ดินเหนียวในราชบุรี เมื่อผ่านกาะบวนการเผาแล้วจะเป็นสีแดง กลายเป็นโอ่งแดง แต่สมัยนี้ใช้ดินเหนียวจากลำปางแทน เพราะกรรมวิธีการผลิตเปลี่ยนไปจากอดีต โรงงานต้องการใช้สีสันสดใส ดินเหนียวจากลำปางเมื่อผ่านกระบวนการเผาแล้วจะกลายเป็นสีขาว ลงสีได้ง่ายกว่า ส่วนกระบวนการผลิตขั้นแรกจะเป็นเริ่มต้นจากการขึ้นรูป แล้วทิ้งไว้ 7 วัน ดินจะกลายเป็นสีเทา แล้วจึงนำไปเผา ดินจะกลายเป็นสีขาว จากนั้นนำไปวาดรูป ลงสี ทิ้งไว้ให้แห้งแล้วนำไปเผาอีกครั้ง บางแบบต้องพิถีพิถันมาก มีการแกะลวดลาย ยิ่งเป็นงานโอ่งมังกรขนาดใหญ่ ต้องใช้ระยะเวลาเป็นเดือนจึงจะผลิตเสร็จ





 



ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข 

ข่าวทั้งหมด

X