การลงพื้นที่ติดตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริบริเวณต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ที่สถานีสูบน้ำพร้อมระบบส่งน้ำและอาคารประกอบในโครงการสถานีสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง เพื่อเติมอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเล ของนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรีพร้อมด้วยนาย ดนุชา สินธวานนท์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหรือกปร. และนาย เลิศวิโจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานพร้อมคณะพร้อมทั้งเป็นประธานเปิดเครื่องสูบน้ำทั้งสามเครื่องที่สถานีสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทองและได้พบปะกับข้าราชการในพื้นที่ด้วย
นาย วิชัย ไตรสุรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 13 เล่าให้ฟังว่า บางพื้นที่อ.ห้วยกระเจา ของอำเภอที่ไม่สามารถส่งน้ำได้ตามระบบชลประทานตามปกติ จนเป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดของจังหวัด น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรและอุปโภคบริโภค กรมชลประทานจึงได้เริ่มโครงการสร้างสถานีสูบน้ำนี้ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อส่งไปช่วยประชาชนที่อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลเป็นหลักและส่งไปที่ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อกักเก็บน้ำในที่ต่างๆ แม้ว่าปัจจุบันอ่างดังกล่าวจะมีน้ำอยู่แต่ก็ไม่พอต่อการใช้โดยได้สร้างท่อสูบน้ำทั้งสิ้น 3 ท่อ แบ่งเป็น 2ท่อจะไว้ส่งน้ำ ส่วนอีก1ท่อจะใช้สำรองกรณีฉุกเฉิน โดยเครื่องสูบน้ำจะสูบน้ำจากคลองท่าล้อ-อู่ทอง ที่รับน้ำมาจากเขื่อนแม่กลองอีกทอดหนึ่ง หลังรับน้ำมาที่สถานีแล้วก็จะระบายน้ำออกไปที่อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลและแหล่งเก็บน้ำอื่นๆที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 11 กิโลเมตร โดยการสูบน้ำของท่อน้ำทั้งสองที่ใช้นี้สามารถสูบน้ำได้มากสุดที่ 86,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันหรือสามารถสูบน้ำด้วยปริมาณสูงสุดต่อเดือนที่2,400,000ลูกบาศก์เมตร
ขณะที่อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลมีระดับกักเก็บสูงสุดที่ 2,500,000ลูกบาศก์เมตรปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างท่อสูบน้ำทั้งสามอยู่โดยดำเนินการเสร็จแล้วไป 3 กิโลเมตรกว่าจากความยาวของท่อสูบน้ำทั้งสิ้น 11 กิโลเมตรไปจนถึงอ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลคาดว่าสิ้นปีนี้จะสร้างท่อสูบน้ำแล้วเสร็จที่ 6 กิโลเมตรและจะดำเนินการสร้างท่อสูบน้ำเสร็จทั้งหมดในปี 2559-2560 ก็จะเริ่มส่งน้ำได้ โดยโครงการนี้จะช่วยประชาชนและเกษตรกรในอ.ห้วยกระเจาที่มีที่ทำนาทำไร่อยู่ 1 หมื่นไร่ ซึ่งมีทั้งการปลูกข้าว ปลูกพืชต่างๆ.รวมทั้งจะช่วยการส่งน้ำอุปโภคบริโภค ซึ่งประชาชนในห้วยกระเจาจะรับน้ำได้ที่อ่างเก็บน้ำหนองนาทะเลได้ทันที สำหรับการก่อสร้างนี้ใช้งบจากกรมชลประทานกว่า 430 ล้านบาท ส่วนปัจจุบันในพื้นที่นี้ไม่ถือว่าแห้งแล้งมากนัก