ในการประชุมสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่มีการพิจารณารายงานของคณะกรรมการปฎิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่คณะกรรมการพิจารณาแล้วเสร็จวันนี้ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ เลขานุการคณะกรรมการปฎิรูปการป้องกันฯ สปช. กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามทุจริตต้องสร้างระบบธรรมาภิบาลและปฎิรูปการเข้าถึงข่าวสาร เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมทั้งต้องปรับปรุงร่างกฎหมายเก่าที่ใช้อยู่ที่มีความล่าหลัง และปกปิดข้อมูลของรัฐไว้ ทางคณะกรรมการจึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการปราบปรามฉบับใหม่จำนวน 3 ฉบับ โดยเสนอให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. แทนพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารเพื่อกำหนดว่ารัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องปรับปรุงการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนเพื่อช่วยสร้างความโปร่งใส รวมทั้งให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ พ.ศ.... เนื่องจากพบว่าภาครัฐมีการใช้งบประมาณเกินจำเป็นและนำงบไปใช้โฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง จึงต้องตั้งคณะกรรมการหนึ่งชุดขึ้นมาติดตามร่างพระราชบัญญัตินี้เพื่อร่วมกับสำนักงบประมาณในการพิจารณาและกลั่นกรองการใช้งบประมาณ ซึ่งพระราชบัญญัตินี้จะกำหนดให้หน่วยงานรัฐต้องมีแผนงานและแนวทางการเสนองบประมาณการโฆษณาที่ชัดเจนเพื่อให่เกิดความคุ้มค่าและไม่ถูกนำไปใช้เพื่อพรรคการเมือง
ด้านสมาชิกสปช. นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง เห็นแย้งว่า ควรแก้ปัญหาการเอื้อประโยชน์พวกพ้องให้ได้ก่อน เห็นจากปัจจุบันที่องค์กรใหญ่บางองค์กรใช้อำนาจช่วยสมาชิกในองค์กร ไม่ต้องรับผิด
ด้านนาย อลงกรณ์ พลบุตร ก็แนะนำให้มีศาลชำนาญพิเศษ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีทุจริตโดยตรงและควรมีวิธีการพิจารณาคดีต่างจากศาลอื่นๆเพื่อให้การลงโทษทำได้ไวขึ้น
ขณะที่นายประชา เตรัตน์ ก็ระบุว่าต้องสอนเยาวชนให้ตระหนักถึงคอรัปชั่นตั้งแต่ระดับครอบครัว โดยต้องปลูกฝังเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมให้มาก รวมทั้งภาคประชาชนต้องมีสิทธิตรวจสอบการทำงานเพราะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
ส่วนสมาชิกสปช.บางส่วนก็ระบุว่าหากจะมีการตั้งคณะกรรมการใดๆขึ้นมาอีกเพื่อดูแลหรือฟ้องร้องหน่วยงานรัฐก็ควรมีวิธีการสรรหาคณะกรรมการที่น่าเชือถือและคณะกรรมการฯที่ตั้งขึ้นมาต้องได้รับความน่าเชือถือจากประชาชนและต้องถูกตรวจสอบและแจกแจงบัญชีทรัพย์สินด้วย
...ผสข.ธีรวัฒน์ สิทธิเกรียงไกร