ปัญหาเรื่องการส่งชาวอุยกูร์กลับไปที่ประเทศต้นทาง นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมกับ นายสุณัย ผาสุก ที่ปรึกษา Human rights watch นายอาลี อารีฟ สภาเครือข่ายช่วยเหลือตามมนุษยธรรม 17 องค์มุสลิม สำนักจุฬาราชมนตรี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เปิดเผยกรณีที่รัฐบาลไทยส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนไปประเทศจีน เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม
นางชลิดา กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์มาตั้งแต่ต้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นไปตามที่รัฐบาลชี้แจง เป็นการกระทำผิดหลักสิทธิมนุษยชน และเห็นกับผลประโยชน์จากทางการจีนมากกว่าเรื่องของคน ประชาชนไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจโดยไม่พิจารณาให้รอบคอบของรัฐบาลไทย มีความเห็นโดยสรุปว่า ไทยผิดสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยผู้ลี้ภัยในมาตราที่3 ในการส่งตัวผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นกลับประเทศในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน พร้อมทั้งละเมิดหลักศาสนา ขณะที่ มองว่า การที่ไทยซื้อเรือดำน้ำจากจีนและลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูงทำให้เกิดผลประโยชน์ทางสังคม ควรเป็นไปด้วยความโปร่งใส และไม่ควรต่อรองด้วยการแลกชีวิตชาวอุยกูร์ นอกจากนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลจีนเคารพความเป็นมนุษย์ และหยุดการกระทำที่โหดร้าย
ด้านนายสุณัย กล่าวว่า ข้อสังเกตอยู่ที่การตัดสินใจของทางรัฐบาลไทย ที่ภายหลังจากการส่งตัวชาวอุยกูร์ 12 ชั่วโมง ก็ไม่มีหน่วยงานใดสามารถให้คำตอบให้ส่วนนี้ได้ รวมถึงยืนยันว่าชาวอุยกูร์ทั้งหมดไม่ได้มีความสมัครใจที่จะเดินทางไปที่จีน ประกอบกับการส่งตัวในครั้งนี้ รัฐบาลตุรกีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับทราบในเรื่องที่เกิดขึ้น จึงอาจจะเป็นข้อสงสัยว่าการกระทำการของรัฐบาลไทยเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส หรืออาจจะมีประโยชน์แอบแฝง
ทางด้านนายอาลี กล่าวว่า มีความเห็นคัดค้านการส่งตัวดังกล่าว และขอให้รัฐบาลไทยรับผิดชอบสนับสนุนที่พักพิงแก่ชาวอุยร์กูที่ยังอยู่ในประเทศไทย อีกทั้งต้องรับประกันและร่วมมือกับองค์กรมุสลิม ว่าต้องไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่เหลือในไทยกว่า 60 คน กลับไปจีนอีก อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลไทยยังไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าว ก็คงจะต้องทำเรื่องเข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
ผู้สื่อข่าว:พนิตา สืบสมุทร