ศาลสหประชาชาติ ชี้ ความล้มเหลวปกป้องโลกร้อน อาจละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

23 กรกฎาคม 2568, 23:03น.


          ศาลสูงสุดขององค์การสหประชาชาติ ประกาศคำวินิจฉัยคดีเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งไม่มีผลผูกมัด ความยาวมากกว่า 500 หน้า ระบุว่าประเทศเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน อาจได้รับเงินชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น



          นายยูจิ อิวาซาวา ประธานศาลสูงสุดแห่งสหประชาชาติประกาศว่า ความล้มเหลวของประเทศต่างๆ ในการดำเนินการที่เหมาะสมเพื่อปกป้องระบบสภาพอากาศ อาจถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในระดับนานาชาติ ประเทศต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีสิทธิได้รับการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยให้เป็นการพิจารณาเป็นรายกรณี



          ในคำวินิจฉัย ระบุว่า สภาพแวดล้อมที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ และยั่งยืนคือสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อความนี้จะนำไปสู่การใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อเรียกร้องความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน รวมถึงการฟ้องร้องภายในประเทศต่อไป



          การพิจารณาคดีในครั้งนี้ มีประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกเป็นผู้ยื่นคำร้อง โดยได้รับการสนับสนุนจากมากกว่า 130 ประเทศ รวมถึงประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ อย่างสหรัฐฯ และจีน โดยที่ด้านนอกศาล นักเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศรวมตัวกันพร้อมป้ายข้อความเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทันที



          ในช่วงทศวรรษก่อนปี 2566 ระดับน้ำทะเลทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 4.3 เซนติเมตร (1.7 นิ้ว) โดยบางส่วนของมหาสมุทรแปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้นมากกว่านี้ นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส นับตั้งแต่ยุคก่อนอุตสาหกรรม อันเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้บรรดาประเทศหมู่เกาะมีความกังวลว่า ประเทศอาจสูญหายไป ทำให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติขอความเห็นแนะนำจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ



          ในปี 2562 ศาลฎีกาของเนเธอร์แลนด์มีคำตัดสินว่ารัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องประชาชนจากผลกระทบอันเลวร้ายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



          เมื่อปีที่แล้ว (2567) ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป (European Court of Human Rights) มีคำตัดสินว่าประเทศต่างๆ จะต้องปกป้องประชาชนของตนจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้ดียิ่งขึ้น



          และเมื่อต้นเดือนนี้ (ก.ค.68) ศาลสิทธิมนุษยชนระหว่างอเมริกา (Inter-American Court of Human Rights) มีความเห็นว่า ประเทศต่างๆ มีหน้าที่ตามกฎหมายในการหลีกเลี่ยงความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศด้วย



...



#การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ



#โลกร้อน



#สหประชาชาติ



 

ข่าวทั้งหมด

X