กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศรกัมพูชา ปฏิเสธโดยเด็ดขาดต่อแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2025 เรื่อง “การประท้วงการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล” ซึ่งกล่าวหาว่ากัมพูชาได้วางทุ่นระเบิดสังหารบุคคลใหม่ อันเป็นการละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (Ottawa Convention) และส่งผลให้ทหารไทยได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ล่าสุด ตอนหนึ่งระบุว่า
กระทรวงฯ ขอย้ำว่า เหตุการณ์ที่ถูกกล่าวหานั้นเกิดขึ้นในหมู่บ้านเตโชมรกต อำเภอจอมกะสาน จังหวัดพระวิหาร ซึ่งตั้งอยู่ภายในเขตแดนของกัมพูชาตามที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ โดยพิกัดดังกล่าวอ้างอิงตามแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการผสมฝรั่งเศส-สยาม ภายใต้ข้อตกลงปี 1904 และสนธิสัญญา ปี 1907 ซึ่งทั้งรัฐบาลกัมพูชาและไทยต่างเคยยอมรับแผนที่ชุดนี้เป็นพื้นฐานในการกำหนดเขตแดนระหว่างสองประเทศ และเป็นแผนที่อ้างอิงที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้ในการตัดสินคดีปราสาทพระวิหารในปี 1962 และคำตีความในปี 2013
แม้กัมพูชาจะได้เตือนถึงอันตรายจากทุ่นระเบิดและระเบิดตกค้างจากสงครามในพื้นที่ แต่ทหารไทยกลับละเมิดข้อตกลงเดิมและเดินลาดตระเวนออกนอกเส้นทางที่ได้ตกลงไว้ โดยสร้างเส้นทางใหม่ในอาณาเขตของกัมพูชา การกระทำดังกล่าวถือเป็นความประมาท ละเมิดอธิปไตยของกัมพูชา เป็นภัยต่อชีวิต และบั่นทอนความไว้วางใจระหว่างกัน ยังไม่รวมถึงการแสดงเจตนาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของกองทัพไทยที่ประกาศว่าจะควบคุมการเข้าเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม โดยอ้างกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ปราสาทดังกล่าวว่าอยู่ในอาณาเขตของไทย
แม้จะมีข้อเท็จจริงอย่างชัดเจน ไทยยังคงออกแถลงการณ์ที่บิดเบือนและขาดความรับผิดชอบ โดยกล่าวอ้างว่าได้ดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดในพื้นที่ที่ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่ในความเป็นจริง กองกำลังกัมพูชายังคงประจำการในพื้นที่ และไม่มีปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดจากฝ่ายไทยเกิดขึ้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวอยู่ภายในอาณาเขตของกัมพูชา แทนที่จะยอมรับข้อเท็จจริงและแสดงความรับผิดชอบ ไทยกลับเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่อสาธารณชนและประชาคมโลก กัมพูชาขอเรียกร้องให้ไทยยุติพฤติกรรมเช่นนี้โดยทันที และดำเนินการแก้ไขข้อมูลที่บิดเบือนให้ถูกต้อง
เหตุการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทั้งสองประเทศควรดำเนินการแก้ไขปัญหาพรมแดนอย่างสันติ ผ่านกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศที่เหมาะสม กัมพูชาจึงขอย้ำจุดยืนมาโดยตลอดว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการหลักขององค์การสหประชาชาติ เป็นเวทีที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางที่สุดในการแก้ไขข้อพิพาทเกี่ยวกับเขตแดนที่ยังค้างคาระหว่างสองประเทศ
#เขมรวางระเบิด