นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยระบุว่า ขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนอัปเดตข้อมูลร่วมกับฝ่ายปฏิบัติการ เพื่อเตรียมส่งให้ทันเส้นตายวันที่ 1 สิงหาคม จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมได้ หลังจากที่ได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมไปแล้วกับผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR)เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2568 ที่ผ่านมา เพื่อให้ทันกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. นี้
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในประเด็นข้อเสนอของฝ่ายสหรัฐฯ ที่ต้องการให้ไทยลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการลงเป็น 0% ว่า ไทยไม่สามารถ “ยอมเปิดภาษีศูนย์” กับสินค้าทุกประเภทได้เหมือนที่บางประเทศ เช่น เวียดนาม เคยทำไว้ เพราะจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะภาคเกษตร ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง
ถ้าเรายอมให้ 0% กับสหรัฐฯ แล้ว เราจะไม่สามารถปฏิเสธประเทศคู่เจรจาอื่นที่มีข้อตกลงการค้ากับเราได้เลย เพราะไทยเป็นภาคีของข้อตกลงพิเศษหลายฉบับ เช่น FTA ต่าง ๆ หรือหลัก ‘Most Favoured Nation’ (MFN) ซึ่งเป็นข้อผูกพันทางการค้า หากเปิดให้ประเทศหนึ่ง ก็เท่ากับต้องเปิดให้ทุกประเทศ
ข้อเสนอที่สหรัฐฯ ยื่นมา แม้ดูเหมือนจะให้ผลประโยชน์ด้านการค้าในระยะสั้น เช่น การเข้าถึงตลาดหรือการดึงดูดการลงทุน แต่หากยอมเปิดกว้างเกินไป จะส่งผลกระทบหนักในระยะยาว โดยเฉพาะกับอุตสาหกรรมที่ไทยยังต้องการการคุ้มครอง เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าอ่อนไหวทางสังคม
รัฐบาลไทยมีจุดยืนชัดเจนในการเจรจา โดยต้องการให้ผลลัพธ์เป็นแบบ “วิน-วิน” (Win-Win) คือ ไทยพร้อมจะหารือและปรับลดภาษีในบางรายการที่ไม่กระทบโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ แต่อย่าคาดหวังว่าไทยจะเปิดภาษีเป็น 0% ครอบคลุมทุกหมวดสินค้า เพราะนั่นจะเป็นการทำลายแนวป้องกันของประเทศเอง โดยเราไม่ได้ปิดโอกาสการเจรจา แต่ต้องมองให้ครบทุกมิติ เช่น ถ้ายอมให้สินค้าประเภทใดเป็น 0% แล้วต้องดูว่าสินค้านั้นมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในภาพรวมไหม และเปิดให้สหรัฐฯ แล้วจะต้องเปิดให้ประเทศอื่นตามมาอีกหรือไม่
รัฐบาลเตรียม 'สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน)' วงเงินรวม 200,000 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือภาคเอกชน และเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบ หากสุดท้ายไม่เพียงพอรัฐบาลก็มีกลไกลให้ในดูแล และอาจปรับเพิ่มวงเงินได้ตามความจำเป็น และเหมาะสม รัฐจะเป็นตัวช่วยเสริมช่วย แต่เอกชนเองก็ต้องปรับตัว เช่น ขยายตลาดใหม่ ลดการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่ง และเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจโลก
การพึ่งพาตลาดใหญ่เพียงตลาดเดียว เช่น สหรัฐฯ ไม่ใช่ทางรอดที่ยั่งยืน เอกชนไทยควรใช้โอกาสนี้ในการ ‘Diversify’ หรือกระจายตลาด และปรับกลยุทธ์การผลิต-การส่งออกให้สอดคล้องกับทิศทางโลก เช่น การผลิตสินค้าในประเทศที่ยังถือเป็น 'ถิ่นฐานการผลิตของไทย' เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าได้เต็มที่
นอกจากนี้ การพิจารณาความเหมาะสมของ 'โลคัลคอนเทนต์' (Local Content) หรือสัดส่วนการผลิตในประเทศ ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และสร้างจุดแข็งทางการค้าให้กับสินค้าไทย
หากถามว่ามีสินค้ากลุ่มใดบ้างที่ 'ห้ามลดภาษีลงเป็น 0%' ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากอยู่ในช่วงการเจรจาและมีข้อกำหนดเรื่องความลับ แต่ย้ำว่า บางรายการเปิดเป็น 0% ได้ เช่น สินค้าที่ไทยเปิดตลาดอยู่แล้วให้บางประเทศ ก็สามารถเปิดให้สหรัฐฯ แข่งขันเพิ่มได้ แต่บางกลุ่ม เช่น เกษตรกรรม หรือสินค้าอ่อนไหวอื่น ๆ ลดไม่ได้เลย เพราะกระทบระบบทันที
#เจราจรภาษีไทยสหรัฐ