ผลการประชุมศูนย์เฉพาะกิจบริหารสถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา หรือ ศบ.ทก. ประจำวันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม 2568 พลเรือตรีสุรสันต์ คงสิริ โฆษกกระทรวงกลาโหม และ นางมาระตี นะลิตา อันดาโม รองอธิบดีกรมสารนิเทศ และรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศแถลงสถานการณ์ล่าสุด พลเรือตรีสุรสันต์ กล่าวว่า การพิสูจน์ทราบทุ่นระเบิด จากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2568 เป็นผลมาจากที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 1 กองกำลังสุรนารี ปฏิบัติการลาดตระเวน เพื่อคุ้มครองการเสริมสร้างเส้นทางทางยุทธวิธี จากฐานมรกตไปยังเนิน 481 ซึ่งถือเป็นพื้นที่อธิปไตยของไทย ทำให้พลทหารเหยียบกับระเบิด ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยยืนยันว่า ทางการไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการจัดหน่วยผู้เชี่ยวชาญด้านทุ่นระเบิดเข้าไปพิสูจน์ทราบ โดยในวันที่ 18 กรกฎาคม 2568 หน่วยดังกล่าวได้สำรวจและพิสูจน์ทราบว่า ในพื้นที่เกิดเหตุ อยู่ห่างจากเส้นปฏิบัติการ 130 เมตร โดยจุดวางทุ่นระเบิด อยู่บนเส้นทางลาดตระเวนของฝ่ายไทย ที่เป็นการปฏิบัติตามปกติ
หน่วยพิสูจน์ทราบได้พิสูจน์ทราบว่า หลุมระเบิดที่เกิดเหตุ มีความกว้าง 69 ซม.ลึก 23 ซม. หน่วยชุดพิสูจน์ทราบได้พบเศษวัตถุระเบิดชนิด PMN 2 และพบทุ่นระเบิดเพิ่มอีก 2 จุด จากการพิสูจน์ทราบ โดยจุดแรก อยู่ห่างจากต้นพญาสัตบรรณราว 50 เมตรใกล้คูเลต ที่ทางทหารกัมพูชาเคยขุดไว้ ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างกัน ตรวจพบอีก 3 ทุ่น ส่วนจุดที่ 2 พบเพิ่มอีก 5 ทุ่น ห่างจากจุดแรกประมาณ 100 เมตร รวมทั้งหมดในการพิสูจน์ทราบ เจอทั้งหมด 7 ทุ่น
จากการตรวจพบทุ่นระเบิด ยืนยันว่า ทั้งหมดเป็นระเบิดใช้ใหม่ PMN 2 มีสภาพใหม่พร้อมทำงาน ปรากฏตัวอักษรชัดเจนบริเวณด้านข้างทุ่นระเบิด ซึ่งทุ่นระเบิดชนิดนี้ ประเทศไทยและกองทัพไทยไม่มีอยู่ระบบสารระบบยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกัน หลักฐานที่ชัดเจน คือ ยังไม่มีวัชพืชหรือรากไม้ขึ้นปกคลุม โดยพบร่องรอยของการขุดเพื่อวางทุ่นระเบิด
ทั้งนี้ ในปี 2565 กองทัพได้ดำเนินการ กวาดล้างทุ่นระเบิดในพื้นที่บริเวณช่องบก โดยไม่ตรวจพบทุ่นระเบิด PMN 2 ซึ่งเป็นสิ่งบ่งบอกว่า ระเบิดชนิดนี้เป็นระเบิดใหม่ และประเมินได้ว่า PMN 2 ที่ตรวจพบ เป็นการวางหลังจากเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา และวันที่ 20 กรกฎาคม 2568 ตรวจพบทุ่นระเบิดอีก 2 จุด โดยเป็นระเบิดชนิด PMN 2 เช่นเดียวกัน ห่างจากหลุมระเบิดที่เกิดเหตุ ประมาณ 20-30 เซนติเมตร เป็นการชี้ชัดว่า มีการวางใหม่เพิ่มเติมอีก โดยเป้าหมายเพื่อสังหารบุคคล และเป็นการละเมิดอนุสัญญาออตตาวาอย่างชัดเจน และเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของไทย
พลเรือตรีสุรสันต์ กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าว กองทัพได้ยกระดับมาตรการการปฏิบัติที่เข้มข้นขึ้น โดยหน่วยในพื้นที่ได้รับคำสั่งให้เพิ่มความระมัดระวังในการลาดตระเวน และมีการเตรียมความพร้อมสูงขึ้น ตามหลักการปฏิบัติของกฎการใช้กำลังของกองทัพ ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการทุ่นระเบิดแห่งชาติโดยกองทัพไทย ได้ออกหนังสือประนามการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะยังคงติดตามและมีมาตรการเพิ่มเติม นอกจากนี้กองทัพยังมีวาระที่จะเชิญผู้ช่วยทูตฝ่ายทหาร รวมถึงผู้แทนกองทัพจากประเทศต่างๆ มารับฟังคำชี้แจงเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้
ส่วนกรณีประสาทตาเมือนธม ที่เกิดเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ทางฝ่ายไทยและกัมพูชาได้ร่วมหารือเพื่อแก้ไข หามาตรการในการบริหารจัดการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกระทั่งระหว่างนักท่องเที่ยวทั้งสองฝ่าย โดยมีการกำหนดมาตรการ หากมีปัญหาจากนักท่องเที่ยวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวชาติใด ให้เจ้าหน้าที่ชุดประสานงานของชาตินั้นเป็นผู้จัดการ โดยจะเชิญตัวนักท่องเที่ยวออกจากพื้นที่
กรณีที่มีปัญหาในพื้นที่ การแก้ไขปัญหาให้ชุดประสานงานประสานงานในพื้นที่ ซึ่งแต่ละฝ่ายจัดกำลัง 7 นาย ให้เป็นผู้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ไม่มีการเรียกชุดกำลังเสริม หรือชุดอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมาเพิ่มเติม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า หรือลดการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงขอให้ทั้งสองฝ่ายได้ดำเนินการคัดกรองนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่ายก่อนที่จะขึ้นมาเยี่ยมชมปราสาทตาเมือนธม
ขอยืนยันว่ามาตรการทั้ง 3 มาตรการมีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในการดำเนินการ พร้อมกำหนดมาตรการเพิ่มเติม จัดชุดอาสาสมัคร และทหารพรานหญิง มาอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม
#ประณามกัมพูชา
#ระเบิดใหม่