บอร์ดแพทย์สปส. เคาะจ่ายผ่าฟันคุดสูงสุด 2,500 บ. ใช้ได้ทุกที่ แต่รพ.รัฐเบิกได้เต็ม

วันนี้, 14:09น.


          นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ประธานคณะกรรมการการแพทย์ กองทุนประกันสังคม (บอร์ดแพทย์ประกันสังคม) เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดแพทย์ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับสิทธิประโยชน์ทันตกรรมเพิ่มเติม โดยแยกสิทธิในการผ่าฟันคุด ออกจากสิทธิทันตกรรมปีละ 900 บาท และกำหนดอัตราการจ่ายค่าผ่าฟันคุดใหม่แบ่งออกเป็น 2 กรณี อิงตามอัตราจ่ายของกรมบัญชีกลาง คือ 1.กรณีผ่าฟันคุดแบบง่าย อัตราการจ่ายอยู่ที่ 1,500 บาท  2. การผ่าฟันคุดแบบยาก คือมีการกรอกระดูกด้วย อัตราการจ่ายอยู่ที่ 2,500 บาท



          นอกจากนี้ ยังจะมีการปรับ เพิ่มจ่ายค่าตรวจสุขภาพช่องปาก ให้กับสถานพยาบาลด้วย แต่สถานพยาบาลจะต้องมีการจัดทำข้อมูลสุขภาพช่องปากของผู้ประกันตนและส่งให้กับ สปส. ว่ามีการตรวจอะไรบ้าง และมีการเบิกจ่ายอะไรบ้าง ทั้งนี้การให้สิทธิดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกันตนได้ทราบว่า ตัวเองมีปัญหาสุขภาพในช่องปากหรือโรคในช่องปาก จำเป็นจะต้องไปรักษา ในสถานพยาบาล อื่นๆอย่างไรต่อไป ก็จะได้มีข้อมูล ดังนั้นคลินิกที่จะเข้าร่วมตรงส่วนนี้ก็ต้องพร้อมที่จะ จัดทำข้อมูลและให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ระยะยาวกับทุกฝ่าย ทางสปส.เองก็จะไปเตรียมข้อมูลเช่นกัน



           ส่วนสิทธิทันตกรรม อัตรา 900 บาทต่อปีนั้น มีการพิจารณาว่า หากผู้ประกันตน มีความจำเป็นต้องรักษาทางทันตกรรม แล้วมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่านี้ ถ้าเข้าไปรักษาที่รพ.รัฐ สปส. ก็จะตามไปจ่ายค่ารักษาดังกล่าวให้โดยไม่ได้กำหนดเพดานเอาไว้ว่าต้องไม่เกินเท่าไหร่ เพราะเราจะจ่ายให้ตามเรทค่ารักษาของรพ.รัฐ แต่หากเป็นสถานพยาบาลเอกชน เรายังจ่ายให้ในอัตรา 900 บาท ส่วนที่เกินจากนี้ผู้ประกันตน ก็ต้องจ่ายเอง



          เรื่องนี้จะทำให้ผู้ประกันตนได้รับการรักษาที่จำเป็น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่าคิวของรพ.รัฐนั้นยาวแค่ไหน พยายามจะให้ผู้ประกันตน ได้รับสิทธิและ เข้าถึงบริการโดยสะดวก 



          กรณีอัตราการ จ่ายค่าผ่าฟันคุดผ่าแบบยาก 2,500 บาท จะใช้ในรพ.รัฐเท่านั้นหรือไม่นั้น นพ.สุรเดช กล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เข้าใจ ว่าผู้ประกันตน บางครั้งถ้าปวดฟันก็ไม่สามารถรอคิวได้นาน 1-2 สัปดาห์ สปส.จึงให้สามารถใช้บริการที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเกินจากอัตราที่ตั้งเอาไว้ ผู้ประกันตนก็ต้องจ่ายเพิ่มส่วนต่างเอง



          ขั้นตอนต่อหลังจากไปทางบอร์ดการแพทย์อนุมัติแล้วคาดว่าประมาณเดือนหน้า ก็พร้อมที่จะเสนอเข้าคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เพื่อพิจารณา หากเห็นชอบก็จะมีขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป



 



#ผ่าฟันคุด



#สิทธิประโยชน์ทันตกรรม

ข่าวทั้งหมด

X