จตุพร ลงพื้นที่เชียงใหม่ หารือแนวทางจำหน่าย-ส่งออก ลำไย

วันนี้, 11:36น.


          การลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าในตลาดใหญ่ของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ตลาดต้นพยอม และตลาดวโรรส  และได้ใช้โอกาสนี้หารือสถานการณ์ผลผลิตลำไย ซึ่งอยู่ในช่วงต้นฤด พร้อมเปิดเผยว่า การพบพ่อค้า แม่ค้าในตลาดใหญ่ของเมืองเชียงใหม่ เพื่อดูสถานการณ์การค้าพบว่าปัจจุบันทั้ง 2 ตลาดยังมีนักท่องเที่ยวและผู้ซื้อคึกคัก พ่อค้าแม่ค้ามีการนำสินค้าสดใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ของตลาดมาจำหน่ายอย่างคับคั่ง อาทิ แคปหมูน้ำพริกหนุ่ม ไส้อั่ว กาละแม ซึ่งเป็นที่นิยมที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝาก


          นอกจากนั้น ยังได้พบปะหน่วยงานราชการจังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์การเกษตรจอมทอง สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ สหกรณ์พืชผักผลไม้เพื่อการตลาดจังหวัดเชียงใหม่ จำกัด ร่วมหารือแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย โดยทางเกษตรกรได้สะท้อนปัญหาและข้อเรียกร้องที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ การขาดแคลนแรงงานเก็บเกี่ยวลำไย และต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนงบประมาณพัฒนา มาตรฐานโรงคัดบรรจุและโกดัง (GMP, HACCP) เพื่อเพิ่มศักยภาพการส่งออก ขณะเดียวกัน เสนอให้รัฐสนับสนุนผู้ประกอบการโรงอบและผู้ส่งออกลำไยสดรายใหม่ ๆ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากโครงการ ธ.ก.ส. และขอให้ภาครัฐเร่งผลักดันโควตาส่งออกไปอินโดนีเซีย รวมถึงการสนับสนุนบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า 5 กิโลกรัม และกล่อง 10 กิโลกรัม สำหรับขายตรงออนไลน์


         รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแนวทางเร่งด่วนหลายมาตรการสำหรับสินค้าลำไย อาทิ เปิดจุดจำหน่ายลำไยที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และหน่วยงานอื่น ๆ ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2568 กระจายผลผลิตผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ 


          รวมถึง สำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ภายใต้กิจกรรม Thai Fruits Festival เชื่อมโยงกับห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างโมเดิร์นเทรด ตลาดกลาง ตลาดสด รวมถึงการจัดกิจกรรม Pre-Order และ CSR จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สนับสนุนกล่องไปรษณีย์และตะกร้าให้สถาบันเกษตรกรผ่าน สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งเชื่อว่าผลผลิตที่จะออกมา เรามีตลาดรองรับ และจะทำให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้อย่างแน่นอน


          ส่วนข้อเสนอเรื่องการส่งออก กระทรวงพาณิชย์มีกิจกรรมในการเร่งผลักดันการส่งออกในช่วงผลผลิตออกมาก โดยตั้งเป้าหมายส่งออกลำไยทั้งสดและแปรรูป รวม 65,000 ตัน โดยเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศผ่านสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.) ซึ่งมีการจัดกิจกรรม Business Matching สินค้าลำไยแล้วมูลค่า 200 ล้านบาท และยังมีการติดตามโควตาการส่งออกไปอินโดนีเซีย โดยการเชื่อมโยงเจรจาการค้าไปอินโดนีเซีย ระหว่างฑูตพาณิชย์กับพาณิชย์จังหวัด ช่วง มีนาคมถึงเมษายน 2568 และ ระหว่าง 8-9 กรกฎาคม 2568 ทำให้ผู้ส่งออกในจังหวัดลำพูน ได้โควตาไม่อั้นจากอินโดนีเซีย และนอกจากอินโดนีเซีย จะมีการขยายตลาดไปยังอินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง อาทิ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย


          นายจตุพร กล่าวย้ำถึง “นโยบายหลัก ไทยทำ ไทยใช้ ไทยช่วยไทย จะทำให้ผลผลิตลำไยของเกษตรกรปีนี้ได้มีตลาดรองรับทั่วประเทศ และประชาชนได้ช่วยสนับสนุนเกษตรกรได้โดยตรงผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  ในส่วนของภาคการผลิต มอบหมายให้กรมการค้าภายในดำเนินการ ลดราคาปุ๋ยและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร โดยจัดเป็นสินค้าธงเขียว  เพื่อลดต้นทุนให้เกษตรกรให้ได้มากที่สุดเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งเตรียมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในวันอังคารที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาแรงงานภาคการเกษตร โดยเฉพาะแรงงานเก็บลำไย และกำหนดมาตรการช่วยเหลือลำไยทั้งระบบ


          สำหรับปี 2568 ปริมาณผลผลิตลำไยของจังหวัดเชียงใหม่อยู่ที่ 443,622 ตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.32 จากปี 2567 โดยผลผลิตจะออกมากที่สุดในเดือนสิงหาคม จำนวน 164,577 ตัน คิดเป็นร้อยละ 37 ของผลผลิตทั้งหมด ขณะนี้มีผลผลิตออกสู่ตลาดแล้วประมาณร้อยละ 8 หรือ 22,409 ตัน กระจายในพื้นที่ อำเภอจอมทอง ดอยหล่อ แม่วาง สันป่าตอง ฮอด และดอยเต่า โดยปัจจุบันราคาลำไยจังหวัดเชียงใหม่ล่าสุด (12 กรกฎาคม 2568) ลำไยสดรูดร่วง เกรด AA ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 19 ถึง 20 บาท เกรด A ราคา 10 ถึง 11 บาท เกรด B ราคา 5 ถึง 6 บาท และเกรด C ขนาดไม่เกิน 20 มิลลิเมตร ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 1 บาท ลำไยสดช่อ (ตะกร้าขาว อินโดนีเซีย) เกรดทองราคา 25 บาทต่อกิโลกรัม เกรดแดง 22 บาทต่อกิโลกรัม เกรดน้ำเงิน 17 บาทต่อกิโลกรัม และเกรดเขียว 8 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนลำไยสดมัดปุ๊ก เกรด AA บวก A ราคา 18 ถึง 20 บาทต่อกิโลกรัม และเกรด A บวก B ราคา 12 ถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม


 


#ขายลำไย


#พาณิชย์


 
ข่าวทั้งหมด

X