ไทยส่งออกอัญมณี พ.ค.68 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.41 ทองคำบวก ร้อยละ 55.87

11 กรกฎาคม 2568, 09:50น.


          การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในเดือนพฤษภาคม 2568 มีมูลค่า 846 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.41 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 7 เดือนติดต่อกัน





          นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำในเดือนพฤษภาคม 2568 มีมูลค่า 846 ล้านดอลลาร์สหรัฐและหากรวมทองคำจะมีมูลค่า 1,753.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกรวม 5 เดือนของปี 2568 (ม.ค.-พ.ค.) ไม่รวมทองคำ มูลค่า 6,647.31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.59 รวมทองคำ มูลค่า 12,116.49 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 91.60



          การส่งออกเฉพาะทองคำในเดือนพฤษภาคม มีมูลค่า 907.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.87 จากการส่งออกไปเก็งกำไร แต่ราคาทองคำชะลอตัวลง หลังขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในเดือนเมษายน และยังมีการขายทำกำไร จากการระงับการใช้มาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ส่วนยอดรวมส่งออกทองคำ 5 เดือน มีมูลค่า 5,468.89 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 121.20 หากแยกเป็นรายเดือนมกราคม มูลค่า 1,167.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 148.95 กุมภาพันธ์ มูลค่า 933.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.395 มีนาคม มูลค่า 1,447.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 269.55 เมษายน มูลค่า 1,011.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 250.52



          ตลาดส่งออกสำคัญ สหรัฐฯ ยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 จากการเร่งนำเข้า เพื่อลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษี ฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 เยอรมนี เพิ่มร้อยละ 9.87 สหราชอาณาจักร เพิ่มร้อยละ 32.93 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่มร้อยละ 21.67 อิตาลี เพิ่มร้อยละ 2.20 ญี่ปุ่น เพิ่มร้อยละ 30.01 ส่วนสวิตเซอร์แลนด์ ลดลงร้อยละ 7.49 เบลเยี่ยม ลดลงร้อยละ 22.70



          ส่วนการส่งออกสินค้า แพลทินัม ยังเพิ่มสูงถึงร้อยละ 65,158.54 จากการส่งออกไปอินเดียเกือบทั้งหมด เครื่องประดับเงิน เพิ่มร้อยละ 26.13 เครื่องประดับทอง เพิ่มร้อยละ 10.80 เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่มร้อยละ 91.10 พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่มร้อยละ 10.01 เครื่องประดับเทียม เพิ่มร้อยละ 3.06 ส่วนพลอยก้อน ลดลงร้อยละ 45.73 พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน ลดลงร้อยละ 0.17 เพชรก้อน ลดลงร้อยละ 45.26 เพชรเจียระไน ลดลงร้อยละ 35.17 เนื่องจากการส่งออกไปยังฮ่องกง เบลเยียม อินเดีย สหรัฐฯ และอิสราเอลลดลง



          แนวโน้มการส่งออกเดือน มิ.ย.2568 คาดว่าหลายตลาดจะยังคงขยายตัวได้ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ยังอยู่ในช่วงชะลอขึ้นภาษี แต่มูลค่าอาจจะโตไม่มาก เพราะมีการเร่งนำเข้าก่อนหน้านี้ และทิศทางจากนี้ ยังคงต้องจับตาเศรษฐกิจโลก ที่ล่าสุดธนาคารโลกประเมินว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2.3 ในปี 2568 ต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 2551 โดยมีปัจจัยจากความขัดแย้งระหว่างประเทศ สงครามการค้า การปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ เกือบร้อยละ 70 ของโลก รวมถึงสหรัฐฯ จีน และยุโรป ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการค้ากลุ่มอัญมณี โดยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป



          แนะนำผู้ส่งออกควรจะปรับการใช้กลยุทธ์เป็นแนวทางผสมผสาน เน้นไปที่การตลาดของหน้าร้านและการสร้างพันธมิตรกับผู้ค้าปลีก และต้องสร้างการมีอยู่ในโลกดิจิทัลอย่างแข็งแกร่ง เพื่อรองรับยอดขายออนไลน์ โดยไม่ต้องพึ่งพาโฆษณาแบบจ่ายเงินเพียงอย่างเดียว ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นกลยุทธ์ การสร้างเนื้อหาออร์แกนิกที่มีคุณภาพ การสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวกับอินฟลูเอนเซอร์ที่เหมาะสม และการเริ่มใช้ Pinterest เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการเข้าชมเว็บไซต์ โดยไม่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายโฆษณาสูง จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จที่สอดคล้องกับเทรนด์อุตสาหกรรมและความต้องการของผู้บริโภค



...



#การส่งออกอัญมณี



#สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ

ข่าวทั้งหมด

X