สกสว.-ม.นเรศวร เปิดผลตรวจ “ปลาแข้” สัมพันธ์น้ำปนเปื้อนสารพิษ จ.เชียงราย

09 กรกฎาคม 2568, 06:12น.


          สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ ม.นเรศวร เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ทางโลหิตวิทยาและจุลพยาธิวิทยา ปลาแข้ ที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตส่งตรวจ ผลการตรวจพบว่าปลาแข้อาจมีความสัมพันธ์กับสารพิษในแม่น้ำ หลังตรวจพบเม็ดเลือดแดงและเม็ดเลือดขาวผิดปกติ  ดร.ณัฐวุฒิ เจริญผล สาขาพยาธิวิทยากายวิภาค ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดผลการวิเคราะห์ปลาแข้ ที่ได้รับมาจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.68 บริเวณ บ.สบคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ผลการชั่งน้ำหนักได้ 60 กรัม ลำตัวยาว 142 ซม. เมื่อดูลักษณะภายนอกพบว่าปลาป่วย มีลักษณะเป็นก้อน ช่วงแรกเข้าใจว่าเป็นก้อนเนื้อหรือถุงน้ำอ่อนนุ่ม แต่พบว่าเป็นก้อนเนื้อแข็ง





          ดร.ณัฐวุฒิ ระบุว่าปกติทำงานด้านพยาธิจะเห็นลักษณะปลาที่เป็นมะเร็งจะมีลักษณะประมาณนี้ แต่ปลาตัวอย่างที่ได้มาพบปรสิตจำนวนมาก จากการเก็บตัวอย่างเลือดและผ่าพิสูจน์เพื่อดูอวัยวะภายใน “ปลาที่ได้มายังมีชีวิตอยู่ดูคร่าวๆยังดูแข็งแรง แต่มีลักษณะผอม เจอก้อนกลมๆทั้งครีบหลัง หนวด ครีบท้ายลำตัวเกือบ 40 เม็ด เป็นก้อนเนื้อไม่ใช่ถุงน้ำ ลักษณะเหมือนยางลบ นุ่มๆแข็งๆ”



          ขณะเดียวกันภายด้านในของตัวปลายังพบลักษณะถุงเนื้อเยื้อในตัวปลา โดยเมื่อนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือดโดยผ่านการทำสไลด์เม็ดเลือดและย้อมด้วยเทคนิค  “สิ่งที่เห็นมีลักษณะของเม็ดเลือดแดงผิดปกติ และเจอเม็ดเลือดขาว กับเกล็ดเลือดขึ้นสูง และยังพบแบคทีเรียที่ติดเชื้อในกระแสเลือด“



          ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างยังไม่เยอะและต้องดูเพิ่มขึ้นในระยะเวลาการเพิ่มขึ้นของสารพิษ ซึ่งเม็ดเลือดแดงบ่งบอกถึงคุณภาพและสิ่งแวดล้อม ส่วนค่าเม็ดเลือดขาวปกติไม่ควรจะเกิน 10 แต่ขึ้นมาถึง 20 สะท้อนถึงการติดเชื้อและการอักเสบของปลาเรื้อรัง ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นแต่เกิดขึ้นมาหลายเดือนแล้ว จึงพบลักษณะนี้ร่วมด้วยกับการติดเชื้อในกระแสเลือดของแบคทีเรีย



          ส่วนการตรวจดูอวัยวะภายใน เช่น เหงือก ตับ ไต พบก้อนเนื้ออักเสบเรื้อรังจำนวนมากซึ่งมีพยาธิอยู่ภายในและพบเม็ดเลือดขาวมีภาวะเลือดและเกิดการสลายตัวของเนื้อเยื้อ และเป็นที่อยู่ของปรสิต พบพยาธิกลุ่มไดจีนจำนวนมาก “เนื้อเยื้อตับ” เสียสภาพ “เนื้อเยื้อหลอดเลือด”สลายตัว “ไตปลา”พบการอักเสบเรื้อรัง เห็นร่องรอยของเซลล์ไตปริมาณมากและมีพยาธิอยู่ด้านในจำนวนมาก





          รศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ หน่วยภารกิจระบบฐานข้อมูลและดิจิทัล สกสว. กล่าวว่า การติดเชื้อในปลาเนื่องจากมลพิษทางน้ำ จากการปนเปื้อนของโลหะหนักและกึ่งโลหะหนัก ทำให้ปลาป่วยและอาจติดเชื้อง่ายขึ้นมีการประเมินสถิติมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่าสารหนู ซีลีเนียม ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว พบทั้งในธรรมชาติและในห้องปฏิบัติการ ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอและติดไวรัสมากขึ้น โดยพบว่าสารหนู และ ซีลีเนียม ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูงในปลา



          การปนเปื้อนของสารหนู เกินค่ามาตรฐานเชื่อว่ามาจากเหมืองในเมียนมา และมาจากตะกอนแขวนลอย การเก็บตัวอย่างอำเภอแม่อายจังหวัดเชียงใหม่ พบสารหนู 0.06 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินค่ามาตรฐาน 6 เท่า เมื่อแยกการละลายน้ำโดยการกรองและไม่กรองพบว่ามาจากอนุภาพขนาดเล็กแขวนลอยบริเวณใกล้กับต้นน้ำจะพบเยอะและค่อยๆลดลงเมื่ออยู่ไกลแหล่งกำเนิด ที่เกินค่ามาตรฐานมีตะกั่ว อีกตัวหนึ่งเกินหนึ่งจุด และสารหนูเกิน 4 จุด ซึ่งข้อมูลสอดคล้องกับทุกหน่วยงานที่มีการเก็บตัวอย่างก่อนหน้านี้



          สถานการณ์ปัจจุบันยังคงปลอดภัยแต่ต้องเฝ้าระวังความเสี่ยง โดยดูจากสามส่วน คือ ความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชนการใช้น้ำใต้ดินระดับตื้น การบริโภคพืชผักและปลา ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย แต่มีสัญญาณเตือนในปลาที่ป่วยผิดปกติสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ “โลหะและกึ่งโลหะ” ในแม่น้ำทำให้ปลาแข้อ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย เป็นตัวชี้บ่งความเสี่ยงในระบบนิเวศ 

ข่าวทั้งหมด

X