ยามุ่งเป้า ‘อิมครานิบ100’ หนทางรักษามะเร็งของผู้ป่วย

วันนี้, 08:23น.


          แนวทางการรักษามะเร็งสำหรับผู้ป่วย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ได้เดินหน้าโครงการโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2563 เพื่อให้เป็นโรงงานต้นแบบผลิตเภสัชภัณฑ์ที่จะเข้ามาเพิ่มขีดความสามารถการวิจัยและการพัฒนาเภสัชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง จุฑามณี สุทธิสีสังข์ รักษาการรองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำความสำเร็จในการผลิตยารักษาโรคมะเร็งมุ่งเป้าชนิดเม็ดตำรับแรกในประเทศไทยจากโรงงานผลิตเภสัชภัณฑ์ในพระดำริ ภายใต้ชื่อยา “อิมครานิบ 100 / IMCRANIB 100" โดยได้รับการขึ้นทะเบียนตำรับยาจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2568



          สำหรับ “ยาอิมครานิบ 100” คือ ยารักษาแบบมุ่งเป้า ที่ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ Tyrosine kinase ที่สามารถยับยั้งการเติบโตและการกระจายของเซลล์มะเร็ง ทำให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลข้างเคียงเมื่อเทียบกับเคมีบำบัดแบบเดิม ซึ่งสามารถใช้รักษาโรคมะเร็งได้หลายประเภท เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดซีเอ็มแอล มะเร็งเม็ดเลือดขาวเฉียบพลันชนิดฟิลาเดลเฟียบวก มะเร็งเนื้อเยื่อในระบบทางเดินอาหาร (GIST) มะเร็งผิวหนังชนิดหายาก (DFSP)



          โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โดยศูนย์มะเร็งวิทยา ได้พิจารณานำยา "อิมครานิบ ๑๐๐" มาใช้ในฐานะโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่สำคัญในการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และศักยภาพของการผลิตยาคุณภาพสูงในประเทศ ไปสู่การนำไปใช้จริงกับผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังมีความพร้อมในด้านระบบบริการ การจัดการยา และการติดตามข้อมูลผลลัพธ์ทางคลินิก โดยทำงานประสานร่วมกันระหว่างแพทย์ เภสัชกร และทีมสนับสนุน เพื่อให้การนำร่องนี้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป



          ความสำเร็จนี้นับเป็นพระกรุณาธิคุณสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานและนายกสภาราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่ไม่เพียงช่วยเหลือประชาชนคนไทยให้พ้นจากทุกข์ภัยของโรคมะเร็งเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะความชำนาญด้านการพัฒนาตำรับ การผลิต การควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ การทดสอบทางเภสัชวิทยา และการขึ้นทะเบียนยารักษาโรคมะเร็งให้แก่บุคลากรและองค์กรที่เกี่ยวข้อง เป็นการยกระดับความสามารถด้านเภสัชอุตสาหการและเทคโนโลยีเภสัชกรรมและบุคลากรทางด้านนี้ของประเทศไทยให้พร้อมรองรับการผลิตและการวิจัยยารักษาโรคมะเร็งตำรับอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศในระยะยาวเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยอย่างยั่งยืน



#ยารักษามะเร็ง



#ยาพุ่งเป้า



 

ข่าวทั้งหมด

X