กกร.เตรียมนัด 4 หน่วยงานหารือเศรษฐกิจ ลุ้นผลเจรจาภาษีสหรัฐ รับยังห่วงเสถียรภาพการเมือง

02 กรกฎาคม 2568, 18:33น.


         กกร.ระบุเศรษฐกิจครึ่งปีหลังอ่อนแรง จับตาเจรจาภาษี หวั่นการเมืองขาดเสถียรภาพยิ่งซ้ำเติม เตรียมนัดถก 4 หน่วยงานหารือเศรษฐกิจ เร่งดำเนินการเชิงรุก เข้าพบ ธปท. สภาพัฒน์ คลัง พาณิชย์ ตั้งทิศทางเดินหน้าเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน





          นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) พร้อมด้วยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกันแถลงผลการประชุมร่วมกันว่า กกร. ได้คงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 ลงมาอยู่ที่กรอบ 1.5-2.0% โดยระบุว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มอ่อนแรงลงอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการประเมินที่สวนทางกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ยังคงคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้ถึง 2.3%



          ทั้งนี้ ปัจจัยลบสำคัญมาจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัว จำนวนนักท่องเที่ยวจีนต่ำกว่าที่คาดการณ์ และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ  เสถียรภาพการเมืองมีความสำคัญ ซึ่งความไม่แน่นอนสร้างผลกระทบต่อเครื่องเศรษฐกิจในประเทศ ทั้งเรื่องการส่งออก การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐตามแผน



          เบื้องต้น กกร. ประเมินว่าหากไทยยังถูกสหรัฐ เรียกเก็บภาษีในอัตรา 10% เศรษฐกิจจะโตได้ราว 2.0% แต่หากอัตราภาษีเพิ่มขึ้นเป็น 18% GDP จะลดลงมาใกล้เคียง 1.5%



           แม้ตัวเลขการส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีจะขยายตัวถึง 14.9% แต่ กกร. ชี้ว่าเป็นผลจากการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่ช่วงชะลอการบังคับใช้มาตรการภาษีของสหรัฐ 90 วัน จะสิ้นสุดลง และคาดการณ์ว่า การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มจะหดตัวกว่า 10% ส่งผลให้ทั้งปี 2568 การส่งออกอาจขยายตัวใกล้เคียง 0% ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิต และการจ้างงาน



           อีกทั้งยังซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งแข็งค่ากว่าประเทศคู่   แข่งในภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว



           ทั้งนี้ กกร. จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนถึง ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงิน และกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ให้เคลื่อนไหวสอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริง



             นอกจากนี้ กกร. ยังชี้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ปัญหาการสวมสิทธิส่งออก (Transshipment) การนำเข้าสินค้าคุณภาพต่ำ และนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ยังไม่เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ เช่น การจ้างงานในประเทศ



             กกร.เตรียมเข้าพบ 4 หน่วยงานหลัก ธปท. กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ สภาพัฒน์ฯ เพื่อหารือผลักดันเศรษฐกิจไทยในระยะ 6 เดือน และ 1 ปี พร้อมยอมรับเอกชนยังให้ความเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพทางการเมืองของรัฐบาล ที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจทั้งไทยและต่างประเทศ ยอมรับการส่งออกและเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังยังมีความไม่แน่นอนสูง



            ขณะที่โครงการ “คุณสู้ เราช่วย” ซึ่งเป็นโครงการที่เป็นจุดตั้งต้นของการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ตามนโยบายรัฐในการขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ 12 ธันวาคม 2567 มีลูกหนี้ลงทะเบียนแล้ว 1.4 ล้านราย เข้าข่ายร่วมโครงการ 6.3 แสนราย คิดเป็นยอดหนี้ 4.6 แสนล้านบาท



           และล่าสุดได้ขยายสู่ระยะที่ 2 โดยปรับปรุงเงื่อนไขของมาตรการเดิมและเพิ่มมาตรการใหม่ เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากขึ้น ประกอบด้วย 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการ “จ่ายตรง คงทรัพย์” มาตรการ “จ่าย ปิด จบ” และมาตรการ “จ่าย ตัด ต้น” ซึ่งจะเป็นการปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุกให้แก่กลุ่มเปราะบางได้อย่างมีประสิทธิภาพ



          ทั้งนี้ ต้องเร่งคู่ขนานกันไปทั้งในการสร้างรายได้ ผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว (Transform) เพื่อความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสวัสดิการที่จำเป็น รวมถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนอกระบบและหนี้นอกระบบ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถฟื้นตัวได้อย่างมีศักยภาพ และไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ



          นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนเสถียรภาพทางการเมือง เห็นว่ารัฐบาลควรจะต้องเร่งสร้างเสถียรภาพให้มีความชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจ ประชาชนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงการเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม





          นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในภาคของการผลิตแม้การส่งออกไทยในช่วง 5 เดือนจะมีการเติบโต แต่การผลิตภายในประเทศยังเติบโตน้อยมาก เมื่อดูแล้วส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อการส่งออก ดังนั้น จึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นจะต้องเข้ามาดูเรื่องของการสวมสิทธิ เพื่อปกป้องผู้ผลิตและผู้ส่งออกภายในประเทศ พร้อมยังต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุน



          อีกทั้งทางอุตสาหกรรมก็ยังให้ความเป็นห่วงในเรื่องของการเจรจาด้านภาษีไทยกับสหรัฐ ซึ่งยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลต่อการแข่งขัน ถ้าหากเทียบกับคู่แข่งโดยเฉพาะเวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ดังนั้น จึงต้องดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด



 



#กกร



Cr:คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน 

ข่าวทั้งหมด

X