สำนักข่าวบีบีซีไทย รายงานเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2017 (https://www.bbc.com/thai/thailand-39335964) ระบุว่า นโยบาย "ทำสงครามกับยาเสพติด" ที่ไทยเคยใช้ เมื่อปี 2546 ถูกนำมาใช้อีกครั้งในฟิลิปปินส์ ผลคือการปราบปรามอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 7,000 คน โดยกว่า 2,500 คน องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอ้างว่า เกิดจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ
ไม่เพียงแต่บุคลิกส่วนตัวที่โดดเด่น แต่การประกาศนโยบาย "ทำสงครามยาเสพติด" ขีดเส้นตายกวาดล้างให้เห็นผลอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการที่รุนแรง ทำให้นายโรดริโก ดูแตร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่ศาลอาญาระหว่างประเทศในขณะนี้ จากนโยบายดังกล่าว
นายดูแตร์เตชูนโยบายปราบยาเสพติดตั้งแต่เริ่มหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และเมื่อได้รับเลือกตั้ง ก็ตอกย้ำว่าจะทำให้บรรลุผลในเวลา 3-6 เดือน โดยเริ่มดำเนินนโยบายตั้งแต่ "วันแรก" ที่เข้ารับตำแหน่ง 30 มิ.ย. 2559
ด้านนายทักษิณริเริ่มนโยบายนี้เมื่อต้นปี 2546 และยกให้เป็น "วาระแห่งชาติ" พร้อมสั่งการให้แต่ละจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง และกำหนดเป้าหมายลดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ 100% ภายในสามเดือน คือระหว่างเดือน ก.พ. - เม.ย. 2546 ทั้งนายดูแตร์เต และนายทักษิณ ใช้ท่าทีอัน "แข็งกร้าว" เป็นหนึ่งในปัจจัยผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยส่งสัญญาณว่าต้องการแก้ปัญหานี้ให้ในเวลาอันรวดเร็ว
กรณีไทย จากรายงานของ "คณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษา และวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และทรัพย์สินของประชาชน (คตน.)" ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550
สำหรับไทย ตลอด 3 เดือนของปี 2546 ที่นายทักษิณทำสงครามกับยาเสพติด แม้จะสามารถจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้เป็นจำนวนมาก ทั้งผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้ครอบครอง แต่ก็ทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมากเช่นกัน คตน. รวบรวมจำนวนคดีฆาตกรรมผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดว่ามีทั้งสิ้น 1,187 คดี มีผู้เสียชีวิต 1,370 คน ไม่รวมถึงคดีวิสามัญฆาตกรรมอีก 35 คดี มีผู้เสียชีวิต 41 คน
#ปราบปรามยาเสพติด