ศาลปกครองชี้แจงข้อกฎหมาย คดีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมโครงการรับจำนำข้าว

26 พฤษภาคม 2568, 18:39น.


           สำนักงานศาลปกครอง เผยแพร่เอกสารชี้แจงข้อกฎหมายคดีฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโครงการรับจำนำข้าวเปลือก



           เนื้อหาในเอกสาร ระบุว่า สำนักงานศาลปกครองขอชี้แจงข้อกฎหมายในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีหมายเลขแดงที่ อผ.160-163/2568 ระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และนายอนุสรณ์ อมรฉัตร ผู้ฟ้องคดีที่ 2 นายกรัฐมนตรีกับพวกรวม 9 คน ผู้ถูกฟ้องคดี ดังนี้



           1. คดีในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 นั้น มีมูลเหตุมาจากกรณีที่มีคำสั่งกระทรวงการคลัง ที่ 1351/2559 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นเงิน 35,717,273,028.23 บาท อันเป็นคำสั่งทางปกครองที่ให้ชำระเงิน ซึ่งหากผู้ฟ้องคดีที่ 1 ไม่ชำระ กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีอำนาจใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีที่ 1 และขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินตามคำสั่งได้ โดยไม่จำต้องฟ้องคดีต่อศาล



            ทั้งนี้ ตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ใช้บังคับอยู่เดิม และมาตรา 63/7 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 เห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยมีคำขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว คดีในส่วนนี้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลปกครองมีอำนาจเพียงพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน



            ตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) ประกอบมาตรา 72 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 โดยศาลไม่มีอำนาจพิพากษาให้คู่กรณีฝ่ายผู้ฟ้องคดีรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำสั่งพิพาทไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน จึงมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งพิพาทเฉพาะส่วนที่ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าจำนวน 10,028,861,880.83 บาท โดยศาลปกครองสูงสุดไม่ได้มีคำพิพากษาและออกคำบังคับให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 9 แต่อย่างใด



           2. คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2566 โดยตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่นั่งพิจารณาได้ลงลายมือชื่อในร่างคำพิพากษาครบทั้ง 5 คนเรียบร้อยแล้ว ต่อมาประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งในการประชุมใหญ่นั้นจะประกอบด้วยตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมใหญ่ได้



           ทั้งนี้ คำวินิจฉัยของที่ประชุมใหญ่ จะเป็นไปตามเสียงข้างมากของที่ประชุม ต่อมา เมื่อมีการจัดทำคำพิพากษาตามมติของที่ประชุมใหญ่แล้ว ตุลาการในองค์คณะ 2 คนที่พ้นจากราชการไปแล้วจึงไม่อาจลงลายมือชื่อในคำพิพากษาได้ ซึ่งประธานศาลปกครองสูงสุดได้มีบันทึกกรณีตุลาการศาลปกครองสูงสุดมีเหตุจำเป็นไม่อาจลงลายมือชื่อได้ไว้ในคำพิพากษาแล้ว ทั้งนี้ การดำเนินกระบวนพิจารณาและจัดทำคำพิพากษาดังกล่าวเป็นไปตามมาตรา 68 และมาตรา 69 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542



            3. ส่วนการทำความเห็นแย้งนั้น ตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนในที่ประชุมใหญ่มีสิทธิทำความเห็นแย้งได้ตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยปรากฏความเห็นแย้งและรายชื่อของตุลาการที่มีความเห็นแย้งอยู่ในคำพิพากษาแล้ว



เอกสารข่าวศาลปกครอง http://https://dg.th/qdg9l1bmj8



#คดีจำนำข้าว 



#ศาลปกครอง 

ข่าวทั้งหมด

X