กลุ่มวิจัยสภาพลังงาน สิ่งแวดล้อม และน้ำ (Council on Energy, Environment and Water : CEEW) ซึ่งตั้งอยู่ในนิวเดลี เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์ข้อมูลด้านสภาพอากาศ สุขภาพ และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อคำนวณความเสี่ยงจากความร้อน พบว่าร้อยละ 57 ของเขตต่างๆ ในอินเดีย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของประชากร 3 ใน 4 ของประเทศกำลังเผชิญกับความเสี่ยง "สูงถึงสูงมาก" จากความร้อนสูง ซึ่งการที่เวลากลางคืนมีอุณหภูมิและความชื้นสูง ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงมากขึ้น และกรุงนิวเดลีจัดเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงสุด
การเผยแพร่รายงานในครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่บางส่วนของอินเดียตอนเหนือเผชิญกับคลื่นความร้อนและสภาพอากาศร้อนจัด ประชากรหลายพันล้านคนทั่วเอเชียใต้ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
การศึกษาครั้งนี้ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความชื้นสัมพัทธ์ที่เพิ่มขึ้นทั่วอินเดียตอนเหนือ รวมถึงในภูมิภาคที่แห้งแล้งมาโดยตลอด ซึ่งทำให้ความเครียดจากความร้อนในร่างกายมนุษย์แย่ลง เนื่องจากทำให้กระบวนการขับเหงื่อช้าลง และทำให้ระบายความร้อนได้ยากขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น
ในแต่ละปี อินเดียมีผู้ป่วยโรคลมแดดและโรคที่เกี่ยวเนื่องมากกว่า 40,000 ราย ในช่วงระหว่าง 1 มีนาคม ถึง 18 มิถุนายนปีที่แล้ว (2567) มีผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยันอย่างน้อย 110 ราย พื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือและตะวันออกมีวันที่เกิดคลื่นความร้อนมากกว่าปกติถึงสองเท่า
...
#สภาพอากาศอินเดีย
#ภาวะโลกร้อน