กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ระบุว่า ในวันนี้ ( 20 พฤษภาคม) ของทุกปีตรงกับวันผึ้งโลก (World Bee Day) ถูกกำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) เมื่อปี ค.ศ. 2017 ตามข้อเสนอของประเทศสโลวีเนีย เพื่อเป็นการให้เกียรติแด่อันตอน ยานชา (Anton Janša) ผู้บุกเบิกวิชาการเลี้ยงผึ้งยุคใหม่ ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1734 การก่อตั้งวันผึ้งโลกมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความสำคัญของผึ้งและแมลงผสมเกสรอื่น ๆ ต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของโลก
ผึ้งมีบทบาทสำคัญต่อการผสมเกสรพืช ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตและให้ผลผลิต โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรทั้งผัก ผลไม้ และธัญพืช นอกจากประโยชน์ของผึ้งในเชิงเกษตรกรรมแล้ว ในแง่ของการอนุรักษ์ป่านั้นการผสมเกสรของผึ้งก็มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของพืชป่า เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายพันธุ์พืชอีกด้วย แต่ในหลายปีที่ผ่านมากลับพบว่าจำนวนประชากรผึ้งทั่วโลกลดลงอย่างน่าตกใจ สาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ การใช้สารเคมีทางการเกษตร การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย และโรคระบาดในผึ้ง ส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และเศรษฐกิจของภาคการเกษตรอย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2567 มีรายงานการค้นพบ "ผึ้งหลวงหิมาลัย" (Apis laboriosa) ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก จ.เชียงใหม่ โดยความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งก่อนหน้านี้ผึ้งชนิดนี้เคยพบเฉพาะในเทือกเขาหิมาลัยของเนปาล อินเดีย และบางส่วนของจีน เมียนมา และลาวเท่านั้น การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญของการอนุรักษ์ระบบนิเวศและเป็นตัวชี้วัดถึงความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย อีกทั้งเป็นเครื่องช่วยยืนยันถึงความสำคัญของผึ้งในระบบนิเวศด้วย
ดังนั้นการเฉลิมฉลองวันผึ้งโลกวันจึงเป็นโอกาสให้ทุกคนส่งเสริมการอนุรักษ์ผึ้ง ไม่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตผืนป่าอนุรักษ์ ลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และส่งเสริมวิธีทำการเกษตรแบบยั่งยืน เพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์ของผึ้งและแมลงอื่น ๆ ที่ช่วยผสมเกสรให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป
ที่มา: สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช และเว็บไซต์ Government of Slovenia