ปภ.กทม.ประชุมทีม ค้นหาผู้สูญหาย หลังตกหลุมเสาเข็ม สถานีหลานหลวง

20 พฤษภาคม 2568, 11:15น.


          หลังเกิดเหตุดินสไลด์ทับ นายศราวุฒิ จันทะสนธ์ อายุ 33 ปี ชาว จ.ศรีสะเกษ คนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริเวณปากซอยหลานหลวง 8 แขวงคลองมหานาค เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม



          ล่าสุด สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานความคืบหน้าปฏิบัติการช่วยเหลือคนงานตกหลุมเสาเข็ม จุดก่อสร้างสถานีหลานหลวง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยระบุว่า หลังจากตั้งแต่ช่วงค่ำวานนี้ (19 พฤษภาคม) ได้มีการปักเหล็กชีตไพล์ (Sheet Pile) เพื่อป้องกันการสไลด์ของหน้าดิน ทำระบบค้ำยันเบรสซิง (Bracing) ป้องกันเหล็กชีตไพล์พังทลายจากแรงอัดมวลดิน ควบคู่กับการใช้รถแบ็กโฮเปิดหน้างานเพื่อค้นหาร่างผู้สูญหาย



          สำหรับในช่วงเช้าวันนี้ วันนี้ (20 พฤษภาคม) ทีมช่างของผู้รับเหมาได้ทำเวลเลอร์ที่ระดับความลึก 6 เมตร เพื่อป้องกันเหล็กชีตไพล์ (Sheet Pile) พังทลาย เนื่องจากพื้นที่ทำงานจำกัดจึงใช้อุปกรณ์ Auger ทำการเปิดหน้าดินหลุมดินด้านข้างเพื่อให้ดินสไลด์ออกด้านข้างพร้อมย้ำว่า การใช้เครื่องมือต้องทำด้วยความระมัดระวัง เพื่อที่จะไม่ไปทำให้ร่างกายของผู้ประสบภัยได้รับผลกระทบ





          ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า การก่อสร้างใดๆ..ความปลอดภัยต้องมาก่อนทุกครั้ง ละเลยเมื่อไหร่ บาดเจ็บและตายอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม! กรณีพนักงานสร้างรถไฟใต้ดินตกลงไปในหลุมถูกดินทับ มาจากอุบัติเหตุโดยละเลยความปลอดภัยในการทำงาน นายจ้างและเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพ(จป.)ต้องรับผิดชอบ ตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้างพ.ศ. 2564 สำหรับงานเจาะและงานขุด ดังนี้



1.การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ต้องจัดให้มีราวกันตกตามมาตรฐานของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และป้ายเตือนอันตรายที่เห็นได้อย่างชัดเจนตามลักษณะของงานตลอดเวลาทำงานและในเวลากลางคืนต้องจัดให้มีสัญญาณแสงสีส้มหรือป้ายสีสะท้อนแสงเตือนอันตรายให้เห็นได้อย่างชัดเจนและเหมาะสมกับสภาพของลักษณะงาน



2.การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่ลูกจ้างอาจพลัดตก ต้องจัดให้มีแผ่นโลหะหรือวัสดุอื่นที่มีความแข็งแรงเพียงพอปิดคลุมบนบริเวณดังกล่าว และทำราวล้อมกั้นด้วยไม้ โลหะหรือวัสดุอื่นที่มีคุณสมบัติเท่าเทียมกัน ในกรณีที่การเจาะหรือขุดนั้นไม่อาจทำการปิดคลุมได้ ให้ทำราวล้อมกั้น





3. ในบริเวณที่มีการเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน ต้องจัดให้มีปลอกเหล็ก แผ่นเหล็ก ค้ำยันหรืออุปกรณ์อื่นที่มีความมั่นคงแข็งแรงเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากดินพังทลายและต้องจัดให้มีการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงเพื่อให้เกิดความปลอดภัยโดยต้องได้รับการรับรองจากวิศวกร



4. การเจาะหรือขุดรู หลุม บ่อ คู หรือสิ่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่ลึกตั้งแต่ 2.0 เมตรขึ้นไป ต้องจัดให้มีการคำนวณ ออกแบบและกำหนดขั้นตอนการดำเนินการโดยวิศวกรก่อนลงมือปฏิบัติงาน และต้องปฏิบัติตามแบบและขั้นตอนดังกล่าว รวมทั้งต้องติดตั้งสิ่งป้องกันดินพังทลายไว้ด้วย



#รฟมสีส้ม

ข่าวทั้งหมด

X