ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2568 ยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้สหรัฐฯ จะเริ่มมีข้อตกลงทางการค้าออกมา โดยเฉพาะกับจีน แต่การบรรลุข้อตกลงกับไทยยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ในขณะที่แรงส่งจากท่องเที่ยวในปีนี้คาดว่าจะติดลบ ดังนั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ไว้ที่ 1.4% โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในไตรมาส 2/68 แม้สหรัฐฯ จะระงับการปรับขึ้นภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ไป 90 วัน ไปจนถึงวันที่ 9 ก.ค.68 เนื่องจากมีการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีไปค่อนข้างมากแล้วในไตรมาส 1/2568 ส่งผลให้ระดับสินค้าคงคลังในสหรัฐฯ อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ขณะที่ในไตรมาส 2/68 สหรัฐฯ เริ่มมีการเรียกเก็บภาษีพื้นฐาน (Baseline Tariffs) ที่ 10% ดังนั้น คาดว่าการส่งออกไทยในไตรมาส 2/68 จะยังคงรักษาการขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ในอัตราที่ชะลอลงอย่างมาก
ทั้งนี้ การบรรลุข้อตกลงทางการค้าเบื้องต้นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่จะปรับลดภาษีตอบโต้กับจีนมาอยู่ที่ 30% เป็นระยะเวลา 90 วัน คาดว่าจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยจำกัด เนื่องจากอัตราภาษีปัจจุบันที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากจีนอยู่ที่ 51% ซึ่งนับว่าเป็นอัตราที่สูงกว่าคู่ค้าสหรัฐฯ รายอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่หลังจากสิ้นสุด 90 วัน ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่สูง โดยข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้จีนให้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศอาจไม่สามารถทำได้โดยง่าย ดังนั้น โอกาสที่ความตึงเครียดทางการค้าจะยกระดับขึ้น ยังคงมีอยู่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ผลการเจรจาของสหรัฐฯ กับไทยยังมีความไม่แน่นอนสูง แม้สหรัฐฯ จะมีการบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับสหราชอาณาจักร และจีน รวมถึงเริ่มมีการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ อาทิ อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ขณะที่ไทย มีความคืบหน้าในการส่งข้อเสนอไปยังผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) แล้ว แต่ยังไม่มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจน ส่งผลให้ไทยเผชิญความเสี่ยงที่การเจรจาอาจล่าช้าออกไป ซึ่งหากไทยเผชิญอัตราภาษีที่สูงกว่าประเทศคู่แข่งอื่น ๆ คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกไทยหดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้
ส่วน การท่องเที่ยวแผ่ว คาดต่างชาติเข้าไทยปีนี้ เหลือ 34.5 ล้านคน
การท่องเที่ยวที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย คาดว่าจะหดตัวในปี2568 ความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยลดลง พฤติกรรมนักท่องเที่ยวและความต้องการด้านการท่องเที่ยวเปลี่ยนไป รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้ ลงมาอยู่ที่ 34.5 ล้านคน หรือหดตัวจากปีก่อนหน้า 2.8%
จากปัจจัยความไม่แน่นอนข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ที่ 1.4% อย่างไรก็ดี ประมาณการดังกล่าว ยังขึ้นอยู่กับผลการเจรจาทางการค้าของไทยเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ เป็นสำคัญ รวมถึงมาตรการดูแลเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจส่งผลให้ประมาณการดังกล่าวมีแนวโน้มดีกว่าที่คาด
สำหรับเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/68 ขยายตัว 3.1% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (YoY) และขยายตัว 0.7% จากไตรมาสก่อนหน้า(QoQ) เนื่องจากดุลการค้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากการเร่งส่งออกก่อนการปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่เร่งขึ้นอย่างมาก จากฐานที่ต่ำในช่วงไตรมาส 1/67
อย่างไรก็ดี สินค้าคงคลังและการลงทุนภาคเอกชน ยังเป็นแรงฉุดเศรษฐกิจ โดยการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง ไม่ได้ส่งผ่านมายังภาคการผลิตไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้าส่วนหนึ่งมาจากการนำเข้ามาเพื่อสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิดไทยเพื่อประโยชน์ทางการค้า ประกอบกับผู้ประกอบการมีการลดปริมาณสินค้าคงคลังแทนการผลิตเพิ่ม และชะลอการตัดสินใจลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอุปสงค์ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ติดต่อกัน
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และรายได้ภาคการท่องเที่ยวชะลอลง แม้ในไตรมาส 1/68 ภาครัฐมีการออกมาตรการกระตุ้นทั้งมาตรการแจกเงินสดแก่กลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป (ดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2) รวมถึงมาตรการลดหย่อนภาษี (Easy E-Receipt 2.0) แต่ประสิทธิผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคนั้น ไม่สูงอย่างที่ภาครัฐคาดไว้ ท่ามกลางกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง
ในด้านการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยในไตรมาส 1/68 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างมากที่ 1.91% YoY โดยจำนวนนักท่องเที่ยวเริ่มหดตัว เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าตั้งแต่เดือนก.พ. 68
#ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
Cr:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย