อินเดียและญี่ปุ่นได้แจ้งต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เกี่ยวกับมาตรการตอบโต้ทางการค้าสหรัฐฯ ที่เรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ต่อเนื่องจากสภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักรที่ส่งหนังสือแจ้งต่อ WTO ในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ อินเดียและญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 เข้าข่ายมาตรการปกป้องการค้า ภายใต้ความตกลงว่าด้วยมาตรการปกป้องของ WTO (WTO Agreement on Safeguards) ซึ้งทั้งสองประเทศสงวนสิทธิ์ที่จะระงับการให้สิทธิประโยชน์และข้อผูกพันอื่น ๆ ด้วยการเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ บางรายการ
อินเดียประเมินว่า ภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง มูลค่า 7,600 ล้านดอลลาร์ และทำให้สหรัฐฯ สามารถเรียกเก็บภาษีจากอินเดียได้ถึง 1,910 ล้านดอลลาร์ จึงจะเรียกเก็บภาษีผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดในสหรัฐฯ ให้ได้มูลค่าเทียบเท่ากัน
ส่วนมาตรการตอบโต้ของญี่ปุ่น จะครอบคลุมทั้งภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ ไปจนถึงการจำกัดการนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ของสหรัฐฯ โดยจะแสดงรายละเอียดซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลการส่งออกล่าสุดให้ WTO ทราบก่อนการบังคับใช้มาตรการ
สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตราร้อยละ 25 และอะลูมิเนียมร้อยละ 10 ตั้งแต่เดือนมี.ค. 2561 ภายใต้มาตรา 232 ของพระราชบัญญัติการขยายการค้าปี 2505 โดยอ้างความกังวลด้านความมั่นคงแห่งชาติ และในเดือนก.พ. 2563 สหรัฐฯ ได้ขยายการจัดเก็บภาษีไปยังผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเหล็กและอะลูมิเนียมเพิ่มเติม โดยอ้างถึงข้อกังวลด้านความมั่นคงของชาติ
เมื่อวันที่ 12 มี.ค 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ปรับขึ้นภาษีอะลูมิเนียมจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 พร้อมยกเลิกโควตานำเข้าและข้อยกเว้นต่าง ๆ
...
#ตอบโต้มาตรการภาษี
#เหล็กและอะลูมิเนียม
#องค์การการค้าโลก