น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Governance Tokens หรือ G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 ตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ
ทั้งนี้ เพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมการเข้าถึงการลงทุนที่มีคุณภาพให้กับประชาชน โดยการผลักดันโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล ให้เป็นเครื่องมือการระดมทุนรูปแบบใหม่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีทางการเงินมาประยุกต์ใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้ประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้ การออก G-Tokens ดังกล่าว ยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบดิจิทัล และช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต โดยรัฐบาลเน้นย้ำในเรื่องของระบบ และกระบวนการที่มีความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นไปตามกฎหมาย และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน
ด้าน นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล หรือ Thailand Digital Token เพื่อเพิ่มช่องทางการออมและการลงทุนให้ประชาขนรูปแบบใหม่ โดยการเพิ่มเครื่องมือการระดมทุนของรัฐบาล
โดยปกติแล้ว สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) มีหน้าที่ต้องออกตราสารหนี้หรือเครื่องมือบางอย่าง ให้กับสถาบันและประชาชนในการระดมเงิน ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการระดมเงินในส่วนที่รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ และโดยทั่วไปจะทำโดยการออกพันธบัตรฯให้กับสถาบัน หรือออกพันธบัตรออมเงินให้กับประชาชน
แต่คิดว่า สามารถทำช่องทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้นักลงทุน จึงออกเครื่องมือการระดมทุนให้รัฐบาล หรือ Thailand Digital Token โดยผู้ที่ถือเครื่องมือการลงทุนตรงนี้ จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนโดยการฝากเงินทั่วๆไป และถือเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ ไม่ได้เป็นการพิมพ์เงินใหม่แต่อย่างใดทั้งสิ้น และไม่ได้เป็นคริปโตฯ อย่างที่เข้ากันใจ
ข้อดีของ Thailand Digital Token คือ ประชาชนสามารถลงทุนเป็นจำนวนเงินที่น้อยก็ได้ เช่น ลงทุน 100 บาท หรือ 1,000 บาท ก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มที่มีความสามารถในการลงทุนน้อย มีทางเลือกในการลงทุน และยังเป็นการวางรากฐานทางนวัตกรรม อันเป็นพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล
เข้าข่ายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดหนึ่ง ซึ่งในวันข้างหน้า สามารถเอาเข้าไปเทรดในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลได้ เพราะมีระบบรองรับอยู่แล้ว และผู้ลงทุนยังได้ผลตอบแทนที่มั่นคง สม่ำเสมอ
กรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีข้อสังเกตในเรื่องนี้ นั้น นายพิชัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้รับข้อสังเกตมาพิจารณาทั้งหมด โดยยืนยันว่า Thailand Digital Token ดังดล่าว ไม่ได้เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) ซึ่งในการออกโทเคนในครั้งแรก จะออกในสัดส่วนที่เหมาะสม และจะทดลองว่ามีความปลอดภัย
ขนาดของการระดมทุนครั้งนี้ จะอยู่ในระดับต่ำ โดยเที่ยวนี้เราอาจจะออกแค่ 5,000 ล้านบาท บวกลบ จากปกติที่เราออก 3-4 หมื่นล้านบาท คาดว่า Thailand Digital Token น่าจะออกได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้า
ส่วนความคืบหน้าในการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ ว่า ขณะนี้ไทยได้ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าฯไปยังกระทรวงการคลัง สหรัฐฯ และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) โดยยื่นข้อเสนอไปเมื่อ 4-5 วันที่แล้ว ทั้งนี้ คาดว่าสหรัฐฯและไทยจะมีการเจรจาเรื่องภาษีนำเข้าฯกันในเร็วๆนี้ เพราะเมื่อสหรัฐฯได้รับข้อเสนอของประเทศไทยแล้ว ก็จะมีคำตอบกลับมา
ด้านนายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า คาดว่าจะสามารถออกได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ โดยจะวางแผนเปิดจำหน่ายจริงในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 ภายใต้ขนาดการทดลองที่เหมาะสม และอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ส่วนช่องทางการซื้อนั้น จะมีความคล้ายกับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมา โดยผ่านสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งประชาชนจะสามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก และมีความปลอดภัย หากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน อาจจะพิจารณาขยายวงเงินหรือขอบเขตการดำเนินงานเพิ่มเติมในระยะถัดไป
#โทเคนดิจิทัล
Cr:รัฐบาลไทย