องค์การการค้าโลก หรือ WTO เสนอจัดประชุมระดับเอกอัครราชทูตแบบไม่เป็นทางการ 19 พ.ค.นี้ หารือผลกระทบจากมาตรการของประธานาธิบดีทรัมป์ต่อการค้าโลก
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า ประธานคณะมนตรีใหญ่ เสนอจัดการประชุมระดับเอกอัครราชทูตแบบไม่เป็นทางการ เพื่อหารือผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้า และพิจารณาทิศทางการตอบสนองในบริบทของ WTO ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญในการสะท้อนบทบาทในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ดูแลกติกาและเสถียรภาพของระบบการค้าโลกในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญความผันผวนอย่างต่อเนื่อง
โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2568 WTO ได้จัดการประชุมเพื่อประเมินความคืบหน้าการเจรจาประเด็นสำคัญ พร้อมหารือแนวทางเตรียมการสู่การประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 14 (MC14) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 – 29 มีนาคม 2569 ณ กรุงยาอุนเด ประเทศแคเมอรูน ซึ่งเปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงจุดยืนร่วมและให้ข้อเสนอแนะแผนการทำงานและกรอบเวลาการเตรียมการสู่การประชุม MC14 โดยละเอียด ตามที่นางเอ็นโกซี โอคอนโจ อิเวียลา ผู้อำนวยการใหญ่ฯ นำเสนอต่อที่ประชุม โดยเน้นการเร่งรัดการทำงานในกรุงเจนีวาให้ชัดเจนภายในเดือนธันวาคมนี้
ประเด็นหลักที่ได้รับการผลักดันจากหลายประเทศ ได้แก่ การปฏิรูป WTO โดยเฉพาะกลไกการเจรจาฯ การฟื้นฟูกลไกระงับข้อพิพาท การเพิ่มความโปร่งใส และการรักษาสิทธิพิเศษของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งต้องไม่กระทบต่อสิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี รวมถึงการรักษาพื้นที่นโยบายในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในบริบทของแต่ละประเทศ
นอกจากนี้ สมาชิกต้องการเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของการเจรจาเกษตร ตลอดจนการเจรจาความตกลงอุดหนุนประมงระยะที่ 2 ที่ยังต้องเจรจาในเรื่องการอุดหนุนประมงเกินขนาดและการประมงเกินศักยภาพ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WTO เรียกร้องให้สมาชิกเร่งให้สัตยาบันความตกลงอุดหนุนประมงที่เจรจาเสร็จตั้งแต่ MC12 ซึ่งยังขาดอีก 14 ประเทศก่อนจะมีผลใช้บังคับ
ยังมีประเด็นอื่นที่สมาชิกให้ความสำคัญและมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ใน MC14 อาทิ การผนวกความตกลงการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุน และความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการเจรจาหลายฝ่ายเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลง WTO
คณะผู้แทนไทยฯ ได้ร่วมแสดงความเห็น และสนับสนุนกลไกการเจรจา ความร่วมมือที่เป็นธรรมและสมดุล ในประเด็นสำคัญที่สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ทั้งในประเด็นการเกษตร การประมง การค้าและการพัฒนา และการปฏิรูป WTO การประชุมครั้งนี้ยังสะท้อนถึงความพยายามของสมาชิกในการรักษาและขับเคลื่อนการเจรจาระบบการค้าพหุภาคี ในช่วงเวลาที่โลกมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
....
#การค้าโลก
#มาตรการทรัมป์