รายงานความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อสภาพอากาศจากการบริโภค และการลงทุนของกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดของโลก ซึ่งมีการเผยแพร่ในวารสาร เนเจอร์ ไคลเมต เชนจ์ ระบุว่า การปล่อยคาร์บอนของเหล่ามหาเศรษฐี ส่งผลกระทบโดยตรงกับสภาพอากาศในโลกแห่งความเป็นจริง
นางซาราห์ โชนการ์ดนักวิทยาศาสตร์จาก ETH Zurich ผู้เขียนหลัก เปิดเผยว่า บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ของโลกมีส่วนรับผิดชอบต่อภาวะโลกร้อน สองในสามนับตั้งแต่ปี 2533 การบริโภคและการลงทุนของคนรวยทำให้ความเสี่ยงต่อคลื่นความร้อนและภัยแล้งที่รุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกแล้ว กลุ่มคนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 1 มีส่วนทำให้เกิดคลื่นความร้อนในรอบศตวรรษมากกว่า 26 เท่า และก่อให้เกิดภัยแล้งในป่าแอมะซอนมากกว่า 17 เท่า
การปล่อยมลพิษจากกลุ่มคนร่ำรวยที่สุดร้อยละ 10 ในจีนและสหรัฐรวมกัน คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมลพิษคาร์บอนทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้อุณหภูมิโลกร้อนจัดเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า
ขณะที่การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยบนพื้นผิวโลกสูงขึ้น 1.3 องศาเซลเซียส ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา
มีงานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่าการเก็บภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ที่ครอบครองมีความเป็นธรรมมากกว่าภาษีคาร์บอน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างภาระให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยกว่า ซึ่งในงานวิจัยล่าสุดนี้ได้ย้ำถึงการปล่อยมลพิษที่แฝงอยู่ในการลงทุนทางการเงิน ซึ่งความคิดริเริ่มในการเพิ่มภาษีสำหรับมหาเศรษฐี และบริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่ ที่มีการนำเสนอในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี20 ยังไม่มีความคืบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐ
....
#ภาวะโลกร้อน
#มหาเศรษฐีของโลก
#G20