ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขยายตัวได้ราว ร้อยละ 2.0-2.2 ต่ำกว่าประมาณการเดิมที่ ร้อยละ 2.4-2.9 ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ โดยประเมินภายใต้สถานการณ์ที่สินค้าไทยถูกเรียกภาษีศุลกากรตอบโต้ที่อัตราร้อยละ 10 ในช่วงไตรมาส 2/68 (หลังมีการเลื่อนขึ้นภาษีเต็มรูปแบบออกไป 90 วัน) และอัตราภาษีในครึ่งปีหลัง ยังอยู่ที่ร้อยละ 10 ที่ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปีเติบโตเพียง ร้อยละ 0.3-0.9 จากประมาณการเดิมที่ร้อยละ 1.5-2.5 ส่วนอัตราเงินเฟ้อของปี 68 มีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.5-1.0 ลดลงจากประมาณการเดิมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่ 2 หากสงครามการค้ารุนแรงอาจฉุด GDP เหลือโตร้อยละ 0.7-1.4 ภาคการส่งออกติดลบ ร้อยละ 2 แต่หากไทยถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 36 ในครึ่งปีหลัง คาดว่า GDP ปี 68 จะโตเพียงร้อยละ 0.7-1.4 เหตุจากการส่งออกทั้งปีอาจหดตัวได้มากถึงติดลบร้อยละ2
ปัจจัยลบจากสงครามการค้า สามารถก่อให้เกิดหลุมรายได้ขนาดใหญ่ถึง 1.6 ล้านล้านบาทในช่วง 5 ปีข้างหน้า จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเจรจากับสหรัฐ เพื่อลดภาษีให้สำเร็จ ประกอบกับยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ในภาวะที่ตลาดสินค้ามีการแข่งขันรุนแรงขึ้น