เงินเฟ้อเม.ย.พลิกหดตัวครั้งแรกรอบ 13 เดือน แนวโน้มพ.ค.ลงต่อ ยังไม่เข้าเงินฝืด

วันนี้, 14:14น.



          นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทย เดือนเมษายน 2568 เท่ากับ 100.14 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2567 ซึ่งเท่ากับ 100.36 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงร้อยละ 0.22 (YoY) โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับมีการลดลงของราคาผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก



          อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมีนาคม 2568 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้นร้อยละ 0.84 (YoY) ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 24 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)



          สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป เฉลี่ย 4 เดือน (มกราคม - เมษายน) ของปี 2568 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.75 (AoA)



          แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพฤษภาคม 2568 คาดว่าจะอยู่ระดับใกล้เคียงกับเดือนเมษายน 2568 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2   อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนนั้น ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด



          ปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่



          1.ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลงทิศทางเดียวกัน



          2.ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2568 ลง 17 สตางค์ เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย



          3.ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น



          4. การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ



          ปัจจัยสนับสนุนให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้น ได้แก่



          1.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปัจจุบันเท่ากับ 31.94 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน



          2.ราคาสินค้าเกษตรบางชนิดและเครื่องประกอบอาหารมีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อนหน้า เช่น มะพร้าว มะขามเปียก กาแฟ เกลือป่น น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น




         



#เงินเฟ้อเมษายน68



#ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเมษายน68



Cr:สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)

ข่าวทั้งหมด

X