การรับมือเศรษฐกิจไทย นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) และอดีตเลขาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เปิดเผยถึงโครงสร้างประเทศไทยว่า ประเทศไทย สิ่งที่ต้องทำคือการอย่ามองข้ามการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะเป็นเรื่องที่แก้ไขลำบาก เป็นเรื่องจากปัญหาโครงสร้างที่เก่าแก่ ทั้งภาคอุตสาหกรรม การศึกษา จึงอยากให้อย่าได้ทิ้งปัญหาระยะยาว ซึ่งไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ต้องทำ หากดูในนั้นจะเห็นว่าต้องทำอะไรที่ทำให้หลุดพ้นจากเศรษฐกิจตกต่ำได้
หนึ่งในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเรื่องหนึ่งคือต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้ได้ ต้องรักษาเนื้อรักษาตัวไว้ให้ได้ หากไทยจะต้องลงทุนควรลงทุนในภาคสังคม สุขอนามัย การศึกษา เพราะเป็นสิ่งที่ไทยต้องการมากเป็นการลงทุนเพื่อรับกับสังคมผู้สูงอายุเป็นการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ไทยได้มากโดยไม่ต้องสร้างการลงทุนใหญ่ๆ การลงทุนด้านสุขภาพก็เป็นการรักษาเนื้อรักษาตัวให้คนในประเทศ
ในช่วงที่โลกคับขันขนาดนี้และจะคับขันอย่างนี้ไปอีก 3 ปีตลอดช่วงเวลาของประธานาธิบดีทรัมป์ เราต้องรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี โดยเฉพาะพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal Space) เพราะเป็นเรื่องสำคัญมากหากเราไม่สามารถเก็บเงินไว้ อย่างที่เห็นในช่วงโควิด-19 ที่สามารถนำเงินออกมาใช้ได้เพราะเก็บเอาไว้มาก และกู้เงินต่ำกว่าเพดานหนี้ แต่ขณะนี้กำลังเกินเพดานอยู่แล้ว ต้องพยายามรักษาไว้ให้ได้ อย่าใช้อะไรที่เกินกว่าเพดาน เพราะอีกไม่นานต้องเข็นออกมาใช้มากๆ แน่นอน ขอฝากกระทรวงการคลังว่า ต้องมีภูมิคุ้มกันในเรื่องพื้นที่ทางการคลังให้มาก
นายศุภชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ดี อีกเรื่องที่ต้องแก้ไขคือกฎระเบียบศุลกากร เพราะสหรัฐก็ได้ระบุแล้วว่าไทยมีกฎระเบียบที่ยุ่งยากมาก หากอยากได้การลงทุนเพิ่ม ไทยต้องแก้โครงสร้างภาษี แก้กฎระเบียบของศุลกากร เพราะกฎระเบียบปัจจุบันกีดกันทำให้ต่างชาติเดือดร้อนค่อนข้างมาก แต่ฝากอีกเรื่องคือ แม้ไทยอยากได้การลงทุนจากต่างชาติแต่การลงทุนต้องไม่ใช่การเข้ามาลงทุนเพื่ออาศัยไทยหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องระวัง