RSF จัดอันดับไทยอยู่ที่ 85 เสรีภาพสื่อโลก ส่วนปาเลสไตน์อันตรายที่สุด

02 พฤษภาคม 2568, 21:10น.


          องค์กรนักข่าวไร้พรมแดน (Reporters Without Borders : RSF) เผยแพร่ดัชนีเสรีภาพสื่อโลกประจำปี 2568 (World Press Freedom Index 2025) 180 ประเทศ โดยมีดัชนีชี้วัด คือ สภาพแวดล้อมทางการเมือง การคุ้มครองทางกฎหมาย ความเป็นอิสระของบรรณาธิการ ความโปร่งใส และความปลอดภัยของนักข่าวโดยมีนอร์เวย์อยู่ในอันดับหนึ่งในด้านเสรีภาพสื่อ ตามมาด้วยเอสโตเนีย เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน ส่วนสามอันดับรั้งท้าย ได้แก่ จีน เกาหลีเหนือ และเอริเทรีย



          สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 85 ของโลก ขยับขึ้นมาจากปีที่แล้วสองอันดับ และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ซึ่งตามมาด้วยมาเลเซีย (อันดับ 88) บรูไน (อันดับ 97) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 116) สิงคโปร์ (อันดับ 123) อินโดนีเซีย (อันดับ 127) ลาว (อันดับ 150) กัมพูชา (อันดับ 161) เมียนมา (อันดับ 169) และเวียดนาม (อันดับ 173)



          ขณะที่ปาเลสไตน์ ถูกระบุว่า เป็นรัฐที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักข่าวเนื่องจากสงครามในฉนวนกาซา ทำให้มีนักข่าวเสียชีวิตเกือบ 200 รายในช่วง 18 เดือนแรกของสงคราม โดยอย่างน้อย 42 รายเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ ในรายงานระบุว่า นักข่าวในฉนวนกาซาติดอยู่ในพื้นที่ปิด ไม่มีที่พักพิง และขาดแคลนทุกสิ่งทุกอย่าง รวมถึงอาหารและน้ำ ส่วนในเขตเวสต์แบงก์ นักข่าวถูกคุกคามและถูกโจมตีโดยผู้ตั้งถิ่นฐานและกองกำลังอิสราเอล ซึ่งยกระดับการปราบปรามหลังจากวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ทำให้การไม่ต้องรับโทษสำหรับอาชญากรรมที่กระทำต่อนักข่าวกลายเป็นกฎใหม่



          ขณะเดียวกันนักข่าวที่ต้องสงสัยว่าให้ความร่วมมือกับอิสราเอลยังถูกกลุ่มฮามาสขุดขวางการทำงาน ซึ่งปาเลสไตน์ยังมีกฎหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ใช้จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อ



          ปาเลสไตน์อยู่อันดับที่ 163 ในด้านเสรีภาพสื่อในดัชนีล่าสุด ซึ่งลดลงหกอันดับจากปี 2567 โดยมี 112 แห่งที่มีเสรีภาพสื่อลดลง และคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกลดลงเหลือ 55 คะแนน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์



          สหรัฐฯ ลดลงสองอันดับสู่ระดับที่ 57 โดยหน่วยงานเฝ้าระวังกล่าวหาประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ที่มีการโจมตีการทำงานของสื่อทุกวัน ทั้งข่มขู่ ต่อต้านสื่อ การเคลื่อนไหวในช่วงแรกของวาระที่สองของเขา ที่ให้คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการสื่อสารมวลชนแห่งสหรัฐฯ (FCC) มีบทบาททางการเมือง การสั่งห้ามสำนักข่าวเอพีเข้าทำเนียบขาว หรือการยุบหน่วยงานสื่อระดับโลกของสหรัฐฯ อย่าง Voice of America และ Radio Free Asia ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสำนักข่าวอื่นๆ และบ่งชี้ว่าเขามีเจตนาที่จะดำเนินตามคำขู่นั้น



          อิสราเอลร่วงลง 11 อันดับมาอยู่ที่ 112 เนื่องจากพบข้อจำกัดที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อ ความหลากหลายของสื่อ และความเป็นอิสระของบรรณาธิการ นับตั้งแต่สงครามในฉนวนกาซาเริ่มต้นขึ้น และนับตั้งแต่ปี 2564 มีเพียงนักข่าวที่ทำงานให้กับช่อง 14 ซึ่งเป็นสื่อที่รายงานข่าวเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูในแง่ดีเท่านั้นที่จะได้สัมภาษณ์ผู้นำของประเทศ



...



#เสรีภาพสื่อ

ข่าวทั้งหมด

X