สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับงานคอนกรีต ตามที่ปรากฏข้อสงสัยในประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานงานคอนกรีต (Concrete) ที่ใช้ในการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (แห่งใหม่) พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ ดังนี้
1.ผู้รับจ้างก่อสร้าง (กิจการร่วมค้า ไอทีดี – ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) มีหน้าที่โดยตรงตามสัญญาจ้างก่อสร้างที่ต้องดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญา รวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญา โดยแบบรูปรายการก่อสร้างและรายการประกอบแบบ งานวิศวกรรมโครงสร้าง เป็นเอกสารแนบท้ายสัญญา และถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
ในส่วนของงานคอนกรีต มีข้อกำหนดให้ ผู้รับจ้างก่อสร้าง ต้องส่งรายการคำนวณส่วนผสม ให้ผู้รับจ้างออกแบบ (กิจการร่วมค้า บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด) พิจารณาเห็นชอบ และให้มีวิศวกรลงลายมือชื่อรับรอง สำหรับในส่วนของการผสมเทคอนกรีต ในการก่อสร้างงานโครงสร้างต่างๆ ให้ใช้คอนกรีตผสมเสร็จ (Ready Mixed Concrete) ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.213) อาทิ CPAC, TPI, บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด และยังรวมถึงมีข้อกำหนดให้สามารถใช้คอนกรีตอื่นได้หากไม่เหมาะสมจะใช้คอนกรีตผสมเสร็จ
2.ผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ขออนุมัติวัสดุคอนกรีตผสมเสร็จ ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด ใช้สำหรับฐานรากและเสาเข็ม รวมทั้งงานโครงสร้างส่วนต่างๆ ของอาคาร และงานพื้นคอนกรีตอัดแรง (Post-Tensioned Slab) ซึ่งมีวิศวกรโยธาระดับสามัญลงลายมือชื่อรับรองรายการคำนวณส่วนผสมคอนกรีต (Mix Design) นอกจากนี้ ผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้ขออนุมัติวัสดุคอนกรีตผสมเสร็จเพิ่มเติม คือ ผลิตภัณฑ์ของบริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด เนื่องจากมีปริมาณการใช้งานในโครงการมาก โดยมีการระบุว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด และ บริษัท นครหลวงคอนกรีต จำกัด ดังกล่าว ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 213)
นอกจากกรณีข้างต้นแล้ว ผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้มีการขออนุมัติวัสดุคอนกรีตผสมเสร็จ ค่ากำลังอัดทรงกระบอก 380 ksc. ผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ทีพีไอ คอนกรีต จำกัด ใช้สำหรับงานพื้นคอนกรีตอัดแรง (Post-Tensioned Slab) อาคาร TOWER ซึ่งค่ากำลังอัดที่ ผู้รับจ้างก่อสร้าง ขออนุมัติดังกล่าว สูงกว่าข้อกำหนดตามแบบรูปรายการก่อสร้างและรายการประกอบแบบที่กำหนดค่ากำลังอัดไว้ 350 ksc. (ทรงกระบอก)
3.ผู้รับจ้างก่อสร้าง ได้มีหนังสือ (Request For Information: RFI) ถึง ผู้รับจ้างควบคุมงาน(กิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เพื่อขอความเห็นจาก ผู้รับจ้างออกแบบ เกี่ยวกับการขออนุมัติใช้วัสดุคอนกรีตผสมเสร็จ ซึ่งเป็นกรณีตามข้อ 2.โดย ผู้รับจ้างออกแบบ แจ้งความเห็นเป็นหนังสือถึง ผู้รับจ้างควบคุมงาน ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของ Structure Criteria ตรงกับเอกสารประกอบ ซึ่งต่อมา ผู้รับจ้างควบคุมงาน จึงได้แจ้งเป็นหนังสือตอบกลับไปยัง ผู้รับจ้างก่อสร้าง ให้ดำเนินการตามที่ ผู้รับจ้างออกแบบ ให้ความเห็นและใช้ในการทำงาน
4.ผู้รับจ้างควบคุมงาน ในฐานะตัวแทน สตง. ในการควบคุมงานก่อสร้าง และมีหน้าที่โดยตรงตามสัญญาจ้างควบคุมงานในการตรวจสอบการขออนุมัติใช้วัสดุและตรวจสอบการทดสอบวัสดุ ได้รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเสนอมายัง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ว่าได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จที่ผู้รับจ้างก่อสร้าง เสนอ ตรงตามแบบโครงสร้าง แผ่นที่ S0-01 และข้อกำหนดในรายการประกอบแบบงานวิศวกรรมโครงสร้าง หมวดที่ 8 (งานคอนกรีต ข้อ 8.3.2 หน้า 3/7) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก. 213) สำหรับส่วนผสมคอนกรีต (Mix Design) เป็นไปตามข้อกำหนด และมีวิศวกรโยธาระดับสามัญรับรอง โดยเห็นควรอนุมัติผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จตามที่ ผู้รับจ้างก่อสร้าง เสนอ
5.ผู้รับจ้างก่อสร้าง ดำเนินการเพื่อทดสอบคุณภาพวัสดุคอนกรีต โดยส่งตัวอย่างคอนกรีต (ลูกปูน) ไปทดสอบที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (KMUTT) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) และกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่อยู่ในข่ายสถาบันตรวจสอบ (Testing Institution) ที่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการทดสอบคุณภาพวัสดุที่ใช้ในงานก่อสร้างตามสัญญาได้ ตามข้อกำหนดในรายการประกอบแบบ งานวิศวกรรมโครงสร้าง หมวดที่ 1 มาตรฐานอ้างอิง (Reference Standards) ข้อ 1.2 ซึ่งเป็นเอกสารแนบท้ายสัญญาและถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ทั้งนี้ภายใต้การรับรองของ สตง. ในฐานะผู้ว่าจ้าง หรือผู้รับจ้างออกแบบ
โดยการเก็บตัวอย่างคอนกรีต (ลูกปูน) เพื่อทดสอบ ผู้รับจ้างก่อสร้าง ต้องเก็บทุกวันที่มีการเทคอนกรีต ซึ่งจะต้องมีการเก็บตัวอย่างไม่น้อยกว่า 6 ตัวอย่าง สำหรับทดสอบที่ 7 วัน และอีก 3 ตัวอย่าง สำหรับทดสอบที่ 28 วัน โดยต้องมีค่ากำลังอัดประลัยของคอนกรีตสำหรับโครงสร้างเสาและผนัง 500 ksc. สำหรับโครงสร้างทั่วไป 350 ksc. และสำหรับฐานรากและเสาเข็ม 280 ksc.
6.ผู้รับจ้างก่อสร้าง ส่งมอบงานโดยแนบเอกสารรายงานผลการทดสอบคุณภาพคอนกรีต เพื่อประกอบการส่งมอบงานในแต่ละงวด โดยผู้รับจ้างควบคุมงาน ทำการตรวจสอบรับรองความถูกต้องและครบถ้วนของงานที่ส่งมอบ ประกอบกับเป็นหน้าที่โดยตรงตามสัญญาจ้างควบคุมงานในการตรวจสอบการทดสอบวัสดุตามที่กล่าวไว้ในข้อ 4. โดยผู้รับจ้างควบคุมงาน รายงานผลการส่งมอบงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเป็นหนังสือเสนอมายัง คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ซึ่งรวมถึงการรายงานต่อที่ประชุมในวาระการประชุมพิจารณาเพื่อตรวจรับงานในแต่ละงวด โดยปรากฏว่าผลการทดสอบคุณภาพคอนกรีตตามที่ ผู้รับจ้างควบคุมงานได้มีการตรวจสอบรับรองและได้นำมารายงานเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ดังกล่าว เป็นไปตามข้อกำหนดและเงื่อนไขสัญญา รวมทั้งเอกสารแนบท้ายสัญญาที่เกี่ยวข้องทุกประการ
..
แฟ้มภาพ Fire & Rescue Thailand
#อาคารสตง