สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยรายงาน 2025 Special 301 Report เรื่องการใช้มาตรการปกป้องและบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ของประเทศคู่ค้ากับสหรัฐ โดยให้ประเทศไทยคงอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง (Watch List) 18 ประเทศ ต่อเนื่องอีกปีแม้จะมีความคืบหน้าที่ดีหลายด้าน แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลอยู่
ในรายงานระบุว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในหลายด้าน อาทิ การปรับปรุงการคุ้มครองและการบังคับใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2567 มีการเผยแพร่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติสิทธิบัตรฉบับใหม่ เพื่อปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนสิทธิบัตร ลดปริมาณสิทธิบัตรที่ค้างอยู่และระยะเวลาดำเนินการ และเพื่อช่วยเตรียมการเข้าร่วมความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ
แต่สหรัฐก็ยังมีข้อห่วงกังวลในบางเรื่องอยู่ อาทิ การบังคับใช้กฎหมายบางส่วนเน้นไปที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า แต่สินค้าลอกเลียนแบบและละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงหาซื้อได้ง่ายโดยเฉพาะทางออนไลน์ และเจ้าของลิขสิทธิ์กังวลว่าเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะเน้นที่ความผิดของผู้ประกอบการรายย่อย แทนที่จะมุ่งเป้าที่ผู้จัดจำหน่ายและผู้ประกอบการการผลิตรายใหญ่
สหรัฐจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองมาตั้งแต่ปี 2560 หลังจากที่อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ (Priority Watch List: PWL) มานานถึง 10 ปีตั้งแต่ปี 2550
สำหรับ 18 ประเทศในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามอง ได้แก่เวียดนาม บราซิล แอลจีเรีย บาร์เบโดส เบราลุส โบลิเวีย บัลแกเรีย แคนาดา โคลอมเบีย เอกวาดอร์ อียิปต์ กัวเตมาลา ปากีสถาน ปารากวัย เปรู ไทย ตรินิแดดและโตเบโก และตุรกี
โดยในรายงานปีนี้ เม็กซิโกถูกลดอันดับจากประเทศเฝ้าระวังไปเป็นบัญชี ประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษ ซึ่งมีทั้งหมด 8 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย อินโดนีเซีย รัสเซีย ชิลี อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา และเม็กซิโกเป็นรายล่าสุด โดยสหรัฐให้เหตุผลว่ามีข้อกังวลมาอย่างยาวนานและยังไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งหลายประเด็นเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ของเม็กซิโก
นายเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐกล่าวว่า คู่ค้าของเราต้องแก้ไขข้อกังวลที่ระบุไว้ในรายงานพิเศษ 301 และหยุดยั้งผู้ที่ขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของธุรกิจและบุคคลที่ทำงานหนัก
.....
#ทรัพย์สินทางปัญญา
#สหรัฐอเมริกา