นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แห่งใหม่ ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า กระบวนการหลักในการก่อสร้างมี 3 ส่วน คือ การจ้างออกแบบ การจ้างก่อสร้าง และการจ้างผู้ควบคุมงาน โดยในส่วนของการออกแบบ สตง. ได้ว่าจ้างบริษัทมาออกแบบ และมีการสอบถามไปยังบริษัทผู้ออกแบบ ซึ่งยืนยันว่าบุคคลที่เซ็นรับรองยังคงทำงานอยู่กับบริษัท
สำหรับประเด็นการจ้างควบคุมงาน ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับวิศวกรที่ปรึกษาและวิศวกรควบคุมงาน นั้นวิศวกรที่ปรึกษาไม่จำเป็นต้องมาควบคุมงาน แต่ต้องรับรองเอกสาร ส่วนวิศวกรควบคุมงานต้องมาควบคุมงานจริง บุคคลที่เป็นข่าวเป็นวิศวกรที่ปรึกษา ซึ่ง สตง. ได้ยืนยันไปยังบริษัทควบคุมงานแล้วว่ายังเป็นเจ้าหน้าที่ของบริษัทอยู่ หากมีการเปลี่ยนแปลงตัววิศวกร จะต้องทำหนังสือแจ้งมายัง สตง. แต่ทั้งสองท่านที่เป็นข่าว ทั้งผู้ออกแบบและผู้ควบคุมงาน ไม่มีเอกสารการเปลี่ยนแปลงบุคคลแต่ประการใด
ส่วน กรณีการแก้ไขแบบ เป็นเรื่องปกติในการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่การแก้ไขจะต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายและวิศวกรรม โดยเมื่อผู้ก่อสร้างหรือผู้คุมงานพบปัญหา จะส่งเรื่องให้บริษัทออกแบบแก้ไขและรับรอง จากนั้นวิศวกรของผู้คุมงานก็จะรับรองอีกชั้นหนึ่ง ก่อนที่จะมีการอนุมัติให้ดำเนินการแก้ไขตามแบบ
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจากจีน (China Railway No.10) นายมณเฑียร กล่าวว่า สตง. กำลังตรวจสอบข้อมูลอยู่ และได้ส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนอมินีให้กับ DSI ดำเนินการสอบสวนแล้ว พร้อมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ สตง. พร้อมให้ความร่วมมือกับ DSI อย่างเต็มที่
ส่วนประเด็นที่ถูกวิจารณ์ว่า โครงการก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาสูง นั้น ผว.สตง. กล่าวว่าผู้ที่ออกแบบได้เสนอราคาคุรุภัณฑ์มา สตง.มีหน้าที่ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และดูว่าบริษัทผู้ออกแบบได้อ้างอิงคุรุภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวมาจากร้านใด ราคาถูกต้องหรือไม่ ย้ำว่าเป็นขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งปัจจุบันแบบของ สตง.ได้มีการปรับลดราคาลงจริง
กรณีฝักบัวราคากว่า 30,000 บาท เก้าอี้ห้องประชุมตัวละ 90,000 บาทนั้น นายมณเฑียร ชี้แจงว่า สตง.มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2,400 คน เก้าอี้ตัวละ 1-2 หมื่นบาท การสร้างบริษัทโดยปกติจะกำหนดว่าชั้นสูงจะเป็นพื้นที่ผู้บริหาร ดังนั้นคุรุภัณฑ์จะมีการออกแบบตามฐานะ เก้าอี้แพงมีเพียงชุดเดียว ก็คือเก้าอี้ของประธาน และเก้าอี้ของกรรมการในห้องประชุม หลายคนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สตง.ทุกคนต้องนั่งเก้าอี้ตัวละ 90,000 บาท แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ไปดูรายละเอียดจากกรมบัญชีกลางได้ เจ้าหน้าที่เกิน 80% นั่งเก้าอี้ปกติ ส่วนฝักบัวนั้น ปัจจุบันทุกบริษัทต้องมีห้องน้ำ หากไปดูแบบของฝักบัวมีอยู่ 2 แบบ เมื่อทำจริงเอาทั้ง 2 แบบมารวมกัน ฝักบัวจึงแพง
ส่วนที่มีการออกมาเปิดเผยว่ามีห้องฉายภาพยนต์ ในอาคารสำนักงาน สตง.นั้น นายมณเฑียร ชี้แจงว่า ทั้งหมดเรียกว่าห้องประชุม ย้ำว่าเป็นห้องประชุม หลังห้องประชุมจะเขียนว่าเป็นห้องแบบใด เช่น ห้อง class room และห้อง theater ย้ำว่าไม่มีห้องฉายภาพยนต์ เป็นเพียงลักษณะของห้องประชุม จึงขอแก้ข่าวว่า สตง.ไม่มีห้องดูหนัง
#ตึกสตงถล่ม
#ผู้ว่าสตงชี้แจง