นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส อดีตผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)ในฐานะที่ปรึกษากรรมาธิการ(กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการเข้าร่วมชี้แจง กรณีขอให้ตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ สตง.แห่งใหม่ ที่ถล่มจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ว่า การที่เดินทางมาชี้แจงต่อ กมธ. ในวันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเก่า ทั้งก่อนที่จะมีการออกแบบก่อสร้าง จากผู้รับเหมา ผู้ควบคุมงาน ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ สตง. ปี 2557-2560 ก็มีส่วนเลือกและกำหนดให้ใช้ที่ดินแปลงนี้ ใช้ในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ เมื่อได้ที่ดินจะนำแบบแปลนที่เคยออกแบบไว้มาใช้หรือออกแบบใหม่ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้บริหารชุดต่อมา เดิมตั้งใจว่าเมื่อหาที่ตั้งเหมาะสมได้แล้ว หนีปัญหาน้ำท่วม ปัญหาเดินทางไกลได้แล้ว ก็นำพื้นที่กว้าง ๆ มาลงแปลนที่ได้ออกแบบ ก็เป็นอันพอใจแล้ว ขั้นตอนหลังจากนั้นไม่สามารถดูแลได้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว
เมื่อถามถึงการปรากฏภาพที่ถ่ายร่วมกันกับ นายบิงลิน วู และนายหลง เฉวียนวู นักธุรกิจชาวจีนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง สตง. นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้รับจ้างแล้ว ซึ่งผู้รับจ้างหลักคือ บริษัทอิตาเลียนไทย ส่วน บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์เท็น เป็นผู้ร่วมค้า การจะไปถ่ายรูป มีภาพร่วมกัน บุคคลนั้นชื่ออะไร ผมก็ดูไม่ออกว่าเป็นใคร มาในฐานะอะไร หรือสมอ้างเข้ามาถ่ายรูป ผมไม่ได้เกี่ยวข้อง แต่ดูจากสายตาหากปกติไม่มีเหตุอันควรสงสัย ก็ไม่ได้เอะใจว่า คนพวกนี้จะมายืนข้างๆ ล้อมหน้าล้อมหลัง หรือมีประโยชน์ทับซ้อนอย่างอื่นหรือไม่
ช่วงที่พูดถึงคือช่วงที่ได้ผู้รับจ้างที่เป็นกิจการร่วมค้าแล้ว ซึ่งกิจการร่วมค้าอยู่ในระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ สามารถมีกิจการร่วมค้าได้ แต่บริษัทต้องมีผลงานไม่เกินกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินงบประมาณ แต่ผู้ร่วมค้าต้องเป็นบริษัทคนไทย จดทะเบียนในประเทศไทย สามารถทำสัญญาร่วมค้ากันได้และนำมาเสนอราคาต่อได้ ส่วนจะมีนอมินีแอบแฝงในกิจการค้านี้หรือไม่ ในขณะนั้นยังไม่มีระเบียบกำหนดว่าจะต้องไปตรวจสอบลึกถึงกิจการของนอมินีขนาดนั้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่เกิดเหตุตึกถล่มมา ขนาดพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ได้มาทำหน้าที่แล้ว อาจจะมีการจับกุมตัวแต่ไม่สามารถส่งฟ้องได้ สะท้อนว่า ถ้าจะตรวจสอบเรื่องนอมินีไม่ใช่จะตรวจสอบได้ด้วยตาเปล่า แต่ต้องพิสูจน์เรื่องเส้นทางการเงิน เพราะตามระเบียบกำหนดว่า ผู้แข่งขันประมูลโครงการ มีการฮั้วงานในลักษณะสมยอม เอื้อกันถือหุ้นไขว้ไปมา เป็นบริษัทในเครือเดียวกันแล้วมาแข่ง เชื่อว่าจะต้องตรวจสอบเรื่องเหล่านี้แน่นอน
ขอยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้อง เรื่องการออกแบบ เพราะพ้นจากตำแหน่งตั้งแต่เลือกพื้นที่ก่อสร้างตึกเสร็จสิ้น แต่การออกแบบเกิดในปี 2561-2562 มีการทำสัญญาในปี 2563-2564 ซึ่งตนเองได้พ้นจากตำแหน่งไป 3-4 ปีแล้ว.
นอกจากนี้กรรมาธิการยังได้เชิญ นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)คนปัจจุบัน เข้าชี้แจงด้วย ทันทีที่ เดินทางมาถึงไม่ให้สัมภาษณ์ หรือตอบคำถามใดของสื่อมวลชน มีหน้าเรียบเฉย มีเพียงพยักหน้าตอบรับ เมื่อถูกถามถึงการเตรียมพร้อมสำหรับข้อมูลที่นำมาชี้แจงต่อกมธ.
และกรรมาธิการยังได้เชืญ. นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รวมไปถึง อธิบดีกรมแรงงาน เข้าชี้แจงด้วย เพื่อ ต้องการให้เกิดความกระจ่าง เพราะมีประชาชนสงสัยจำนวนมาก
การเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น เพื่อสอบถามเรื่องคุณภาพเหล็ก ซึ่งผู้ประกอบการ อาจมีวิธีการซิกแซก เวลาก่อสร้างเอาเหล็กที่มีคุณภาพผ่าน มอก.ไปตรวจสอบก่อนการก่อสร้าง แต่อาจใช้อีกหนึ่งประเภทในการก่อสร้าง อยู่ที่การควบคุมงาน และต้องผ่านการรับรองในเบื้องต้น อยากสอบถามรัฐมนตรี ว่ามีมาตรการในความควบคุมขนาดไหน มีมาตรฐานขนาดไหน จะสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ประกอบการคนไทยและต่างชาติได้หรือไม่ ว่าการดำเนินการของไทยเป็นไปตามมาตรฐาน มอก.
#ตึกสตงถล่ม