นายฌอง คล็อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เรียกร้องชาวกรีกลงมติยอมรับแผนการของกลุ่มเจ้าหนี้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการลงประชามติวันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคมนี้ เพราะจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรืออียูต่อไป ทั้งนี้นายจุงเกอร์ กล่าวโจมตีนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปรัส ของกรีซโดยตรง ว่ารู้สึกผิดหวังต่อพฤติกรรมของรัฐบาลซ้ายจัดของกรีซ และกล่าวด้วยว่า รัฐบาลของกรีซต้องบอกความจริงกับผู้มีสิทธิ์ออกเสียง ส่วนนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล แห่งเยอรมนี เรียกร้องให้มีการประนีประนอม เพราะหากเงินยูโรล้ม ยุโรปก็จะล้มตามไปด้วย โดยเธอบอกว่าพร้อมเจรจารอบใหม่กับรัฐบาลกรีซ แต่การเจรจาใดๆน่าจะมีขึ้นหลังการลงประชามติแล้ว
ทั้งนี้กรีซยุติการเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้ไปเมื่อวันเสาร์ จากนั้นก็ออกมาตรการควบคุมเงินทุน และตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในวันนี้ เพราะยังไม่มีข้อตกลงปฏิรูปแลกความช่วยเหลือซึ่งเป็นเงินกู้งวดสุดท้าย 7,200 ล้านยูโร โดยนับตั้งแต่ปี 2553 กรีซได้รับเงินกู้เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ต้องล้มละลายมาแล้ว 2 งวด
อย่างไรก็ตาม มีชาวกรีกประมาณ 17,000 คนร่วมการชุมนุม ในกรุงเอเธนส์และเทสซาโลนิกิ เพื่อยืนยันว่า จะออกเสียงไม่รับข้อเสนอของเจ้าหนี้ ทั้งกล่าวหาเหล่าเจ้าหนี้ว่ามีพฤติกรรมขู่กรรโชก แม้พวกเขาจะรู้ดีว่าผลการลงมติจะทำให้ต้องออกจากกลุ่มประเทศผู้ใช้เงินสกุลยูโร หรือ ยูโรโซนก็ตาม
ขณะที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หรือเอสแอนด์พี ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของกรีซลงจาก 'CCC' สู่ '-CCC' โดยบอกว่าตอนนี้ความเป็นไปได้ที่กรีซจะออกจากยูโรโซนอยู่ที่ 50-50 เพราะอาจผิดนัดชำระหนี้ภาคเอกชนในช่วง 6 เดือนข้างหน้า และในกรณีที่กรีซต้องออกจากยูโรโซน จะส่งผลให้ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศสำหรับภาคเอกชนและภาครัฐอย่างรุนแรง ซึ่งบางทีอาจนำไปสู่การจำกัดการนำเข้าสำคัญๆ นอกจากนี้ยังให้แนวโน้มความน่าเชื่อถือของกรีซเป็น เชิงลบ ซึ่งหมายความว่าอาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงอีก